Tuesday, October 15, 2013

ไซลาซีน (เป็นยาใช้รักษาสัตว์เอามาใช้มอมยาคน)

อย.ยกระดับ "ไซลาซีน" ป้องกันมิจฉาชีพใช้มอมปลดทรัพย์ ต้องมีใบอนุญาตสัตวแพทย์เท่านั้นถึงซื้อได้ 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ครั้งที่ 2/2556 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ทั้งสัตวแพทยสภา กรมปศุสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เพื่อหามาตรการป้องกันการนำสารไซลาซีน ไปใช้ในทางที่ผิดนั้น นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุม มีมติเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมยาสำหรับสัตวที่นำไปใช้ในทางที่ผิด 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแอลฟา ทู แอดดริเนอจิก อโกนิสต์ (Alpha-2-adrenergic agonist) ซึ่งสารไซลาซีนอยู่ในกลุ่มนี้  2.กลุ่มเบนโซไดอาซีพีน เดริเวทีฟ (Benzodiazepine derivative)  3.กลุ่มบิวไทโรฟีโนน เดริเวทีฟ (Butyrophenone)  และ 4.กลุ่มฟีโนไทอาซีน เดริเวทีฟ (Phenothiazine derivative) โดยให้ยกระดับยาทั้ง 4 กลุ่มจากยาอันตราย คือ ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา เพียงแค่มีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย ให้เป็นยาควบคุมพิเศษคือ ยาที่ต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้นจึงจะซื้อได้

นพ.ปฐม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเสนอให้กำหนดข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ดังนี้ "ขายยาตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น และใช้ภายใต้การกำหับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น" และให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จัดทำบัญชีและเก็บรายงานไว้ที่สถานประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่าย ไม่น้อยกว่าวันหมดอายุของรุ่นการผลิตของยานั้น เพื่อให้ อย.ตรวจสอบ ทั้งนี้ มติคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณา ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ หากเห็นชอบก็จะประกาศบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ อย.จะเข้าไปตรวจสอบผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ว่ามีการใช้ผิดปกติหรือไม่ แต่คงไม่สามารถเข้าไประงับการจำหน่ายของผู้ประกอบการได้ เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่จะส่งหนังสือเวียนเพื่อขอความร่วมมือว่า ให้ใช้ความระมัดระวังในการจำหน่ายมากขึ้น และต้องจำหน่ายต่อเมื่อมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น

นพ.ปฐม กล่าวว่า เมื่อยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษแล้ว โทษจะมีสองกรณีคือ 1.ผู้รับอนุญาต คือเจ้าของร้านขายยา หรือสถานพยาบาลสัตว์ หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบจะมีโทษปรับตามมาตรา 105 ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือ 2,000 - 10,000 บาท  และ 2.ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการหรือเภสัชกร และสัตว์แพทย์ หากมีการจำหน่ายยาที่ไม่มีใบสั่งจะมีโทษปรับ 1,000 - 5,000 บาท ซึ่งมีโทษเท่ากันกับกรณีที่เป็นยาอันตราย แต่เมื่อมีการควบคุมพิเศษจะมีการเพิ่มมาตรการโดยการสั่งซื้อต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์แทน ทั้งนี้ สาเหตุที่ อย.อนุญาตให้มีการขายยาสำหรับสัตว์ในร้านขายยาสำหรับคนนั้น เหตุเพราะยาสำหรับสัตว์มีน้อยมาก จึงต้องอนุโลมอนุญาตให้ขาย โดยร้านขายยาที่ขายได้มี 2 ประเภทคือ ขย. 1 หรือร้านขายยาทั่วไป โดยในพื้นที่ กทม. มี 4,443 แห่ง ภูมิภาคมี 7,680 แห่ง  และ ขย.3 หรือร้านขายยาสำหรับสัตว์ โดยในพื้นที่ กทม. มี 87 แห่ง และภูมิภาค 658 แห่ง


ด้าน รศ.น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียริ นายกสัตวแพทยสภา กล่าวว่า ยาทั้ง 4 กลุ่มเป็นยาสำหรับสัตว์ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากนำมาใช้ในทางที่ผิดกับคนแบบเกินขนาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ในการรักษาสัตว์ จึงต้องมีการควบคุมและดูแลการใช้ยาเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น จึงยกระดับจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ   ทั้งนี้ ในกรณีที่สัตวแพทย์ออกใบสั่งให้กับผู้ที่ไปซื้อยากลุ่มดังกล่าว แต่พบภายหลังว่านำไปใช้ในทางที่ผิดจนเกิดปัญหา ก็ถือว่ามีความผิดด้วย โดยจะมีคณะกรรมการจรรยาบรรณของสัตวแพทยสภา พิจารณาความรุนแรงของโทษ โดยความรุนแรงที่สุดคือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรณีโทษทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://pharmacy-muay.blogspot.com/2013/10/xylazine.html

No comments:

Post a Comment