Wednesday, April 30, 2014

โดนน้ำร้อนลวก

ผู้ชายคนหนึ่งเดินมาที่ร้านขายยา ขอซื้อยาทาแผล เพราะโดนน้ำร้อนกระเซ็นใส่ที่หน้าท้อง ได้ใช้ว่านหางจระเข้ทาไปก่อนแล้ว เขาเปิดเสื้อยืดที่ใส่อยู่โชว์ท้องให้ข้าพเจ้าดู แผลเริ่มพองเป็นตุ่มน้ำใสหลายตุ่ม แผลดูสะอาดดี ข้าพเจ้าได้แนะนำยาทา MEBO สำหรับแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกให้ แล้วปิดทับด้วยผ้าก๊อสและเทปเพื่อกันความสกปรก

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง จะทำอย่างไรเวลาน้ำร้อนลวก จากหมอชาวบ้าน
http://www.doctor.or.th/article/detail/5621)

น้ำร้อนลวกจะทำอย่างไร
อุบัติเหตุเกิดได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ หากไม่มี “จิตปลอดภัย” หมายถึงไม่มีความระมัดระวัง อุบัติเหตุในบ้านที่พบบ่อยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างหนึ่งคือ น้ำร้อนลวก จะโดยสาเหตุใดก็ตามย่อมเกิดการทำลายของผิวหนัง เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อ

“น้ำร้อนลวก
” ในเด็ดมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะพื้นที่บนร่างกายของเด็กมีน้อยบริเวณน้ำร้อนลวกจึงกว้างและอาจถูกอวัยวะสำคัญ เช่นลูกตา
1. อย่าตกใจ! จนทำอะไรไม่ถูก

2. นำผู้ได้รับอุบัติเหตุออกจากบริเวณที่มีน้ำร้อน

3. ใช้น้ำสะอาด (ถ้าเป็นน้ำเย็นยิ่งดี) ราดลงบริเวณที่ถูกลวก เพื่อช่วยระบายความร้อน
- อย่า! ถูบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก เพราะจะทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น
- อย่า! แกะแผลที่พองเพราะจะทำให้มีการติดเชื้อโรคที่บาดแผลและเสียน้ำจากร่างกาย
- อย่า! ใช้น้ำปลาราด เพราะนอกจากจะเหม็นและแสบแล้ว ยังมีโอกาสนำเชื้อโรคเข้าสู่แผลอีกด้วย

4. ถ้าผู้ถูกน้ำร้อนลวกเป็นเด็ก หรือบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกกว้างลึก หรือถูกอวัยวะสำคัญควรรีบนำส่งสถานพยาบาลหลังจากใช้น้ำสะอาดราดแล้ว

5. ถ้าถูกน้ำร้อนลวกเพียงเล็กน้อย ไม่มีแผล ใช้น้ำแข็งประคบจะทุเลาอาการปวดแสบปวดร้อนลง จากนั้นใช้วาสลินทาบางๆ

6. ถ้ามีแผลพองอย่าแกะ ในไม่ช้าน้ำในแผลพองจะถูกดูดซึมแห้งไปเอง ถ้าแผลพองแตก ให้ใช้ยาแดงแต้มบางๆ

7. ถ้าน้ำร้อนลวกถูกบริเวณตา ให้ป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตาปฏิชีวนะหรือพาราฟีนเหลวหลับตาไว้ปิดตาด้วยผ้าสะอาด ถ้าปวดต้องให้ยาแก้ปวดแล้วนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็ว

บุคคลที่ถูกน้ำร้อนลวกมากๆ และปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาเองด้วยการพอกยา พ่นยา อาจมีอาการแทรกซ้อนจาก 
(1) เสียน้ำมาก มีไข้สูง
(2) แผลติดเชื้อโรคทำให้แผลเน่า หรือเกิดเชื้อบาดทะยัก
(3) กล้ามเนื้อหรือเอ็นถูกทำลาย ทำให้อวัยวะยึดติดกันหรือผิดรูป เช่น บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น

ดังนั้น “ควรระมัดระวัง” โดยเฉพาะเด็กในวัยต่างๆให้พ้นจากการถูกน้ำร้อนลวก น้ำมันกระเด็น น้ำมันลวก เพราะเด็กยังป้องกันตนเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูสามารถป้องกันให้เด็กได้ โดยการมีจิตปลอดภัย

Tuesday, April 29, 2014

เด็กเล็กโดนแมวข่วน

เช้านี้ คุณแม่ท่านหนึ่งอุ้มลูกอายุ 1 ขวบมาให้ดูแขนเป็นรอยขีดแดง ๆ 3-4 ขีด ยาวประมาณ 0.5- 1นิ้ว บอกว่า เมื่อวานโดนแมวแถวบ้านข่วน วันนี้พาไปศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านแล้ว แต่เห็นคนไข้เยอะมากรอไม่ไหว เลยพาลูกมาที่ร้านยา ข้าพเจ้าก็แนะนำว่า ควรพาไปศูนย์สาธารณสุข เพื่อพบแพทย์ให้วินิจฉัย เพราะจะต้องฉีดวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ ฉีดประมาณ 4-5 ครั้ง ถึงจะครบ และควรนำสมุดฉีดวัคซีนประจำตัวเด็กไปด้วย เพื่อดูว่าได้เคยฉีดบาดทะยักแล้วหรือยัง

วันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็มาเล่าว่า ต้องฉีดวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้า 4 ครั้ง แต่ครั้งที่ 4 อาจไม่ต้องฉีด ถ้าแมวตัวที่ข่วนยังไม่เป็นไรหลัง10วัน

ยังมีเรื่องที่ฟังมาอีกต่อว่า มีคนโดนแค่น้ำลายสุนัขที่เป็นโรค โดยถูกขาที่มีแผล ก็ทำให้ติดเชื้อได้ถึงกับเสียชีวิตก็มี

ที่จริงแล้ว สัตว์เลี้่ยงต่าง ๆ ไม่ว่า หนู กระรอก ลิง ค่าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้กัน ถ้าโดนกัด ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน

 อ่านความรู้เกี่ยวกับแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่
http://thaigcd.ddc.moph.go.th/uploads/pdf/pat_3/Rabies/Rabies_CPG56_QA_Low.pdf

Monday, April 7, 2014

ผู้ป่วยบางโรคควรระวังหากต้อง "ขูดหินปูน"

จากไทยรัฐออนไลน์
กรมอนามัยเผยผู้ป่วย 8 โรคควรระวังพิเศษ หากรับบริการ "ขูดหินปูน" ย้ำต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนทุกครั้ง เตรียมพร้อมรักษาหากอาการกำเริบ...
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการขูดหินปูนหรือหินน้ำลายเพื่อป้องกันเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ซึ่งการสำรวจโดยสำนักทันตสาธารณสุข ในปี 2555 พบว่า คนไทยวัยทำงานกว่าร้อยละ 70 มีหินปูนเกาะบนตัวฟัน ต้องได้รับการดูแลโดยการขูดหินปูน ซึ่งการขูดหินปูนทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขจัดหินปูนแบบที่ทีความสั่นสะเทือนทำให้หินปูนหลุดออก และยังมีเครื่องมือชิ้นเล็ก (Hand instruments) ขูดหินปูนโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้มีเลือดออกบ้างตามอาการของเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จะไม่มากจนมีผลใดๆ ต่อผู้ป่วย
“ทั้งนี้ เฉพาะผู้ป่วยบางโรค ที่ต้องระวังและแจ้งทันตเพทย์ก่อนทุกครั้งที่เข้ารับบริการทำฟันหรือขูดหินปูน ซึ่งกลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลูคีเมีย อาจมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามร่างกายร่วมด้วย โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยา Steriod โรคลมชักและโรคความดันโลหิตสูง และสุดท้าย คือ โรคเบาหวานเพราะมีผลกระทบทำให้แผลหายยาก ซึ่งหากแจ้งให้ทันตแพทย์ได้รับทราบก่อนจะช่วยให้สามารถเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาการกำเริบได้” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หินปูนหรือหินน้ำลายเป็นคราบจุลินทรีย์ที่มีการสะสมของแคลเซียมในน้ำลายในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดการแข็งตัวคล้ายหินปูน ซึ่งจะสะสมเชื้อโรคหลายชนิดและเป็นแหล่งผลิตสารพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เหงือกอักเสบและเป็นโรคปริทันต์ได้ วิธีการดูแลและป้องกันการเกิดหินปูนหรือหินน้ำลาย คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาด ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณคอฟันไม่ให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์จนกลายเป็นหินปูนได้ นอกจากนี้ทันตแพทย์จะแนะนำให้มาตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี และหากมีหินปูนก็ควรขูดหินปูนอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดีและลดการสูญเสียฟันในอนาคตอีกด้วย”.