Monday, February 9, 2015

ดีคอลเจนและทิฟฟี่


เวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ร้านยา คนที่เข้ามาซื้อยา จะถามว่า “ดีคอลเจนหรือทิฟฟี่อย่างไหนดีกว่ากัน?” ข้าพเจ้าสังเกตว่า ช่วงนี้ทีวีมีโฆษณายาสองตัวนี้ จึงมีคนมาซื้อที่ร้านบ่อย มีบางคนบอกว่า "ตัวเขาเองกินครั้งละ 4 เม็ดไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทำไมไปซื้อร้านสะดวกซื้อ พนักงานร้านบอกว่าขายไม่ได้เพราะเป็นยาอันตรายข้าพเจ้าก็แนะนำตามหลักวิชาการไป และหาข้อมูลเพิ่มเติมมาเขียนบทความนี้
-------------------------------------------------------------------------
Decolgen prin เป็นชื่อการค้าของบริษัทหนึ่ง ส่วนTiffey dey เป็นชื่อการค้าของอีกบริษัทหนึ่ง ยาทั้งสองชนิดนี้มีส่วนประกอบและปริมาณยาที่เหมือนกันทุกอย่าง ดังนี้
1.     Paracetamol 500 mg มีคุณสมบัติ แก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดหัว
2.     Phenylephrine HCL 10 mg มีคุณสมบัติ ช่วยลดอาการคัดจมูก (nasal decongestant)
3.     Chlorpheniramine Maleate 2 mg  มีคุณสมบัติ ลดน้ำมูก ผลข้างเคียงของยาตัวนี้ คือ ทานแล้วง่วง
ดังนั้น จึงทำให้ทั้งยาดีคอลเจนและทิฟฟี่ มีข้อควรระวัง คือ อาจทำให้ง่วง แต่ว่า มีบางคน ทานแล้วง่วงมาก บางคนทานแล้วง่วงน้อย  บางคนทานแล้วไม่ง่วงเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละคนที่มีต่อยา Chlorpheniramine ซึ่งปกติ ขนาดยา หรือ doseของ Chlorpheniramine ในผู้ใหญ่คือ 4 mg ต่อเม็ด แต่ในสูตรดีคอลเจนและ ทิฟฟี่จะมีแค่ 2 mg ลดลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะลดผลข้างเคียงคือ ความง่วง ลงได้มาก

ขนาดยา (Dose) ของดีคอลเจน-พริน และทิฟฟี่-เดย์ คือ  เด็ก อายุ 6-12 ขวบ ทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก4-6 ชั่วโมง
                     ผู้ใหญ่ ทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
ยาส่วนใหญ่เมื่อทานเข้าไปแล้วจะใช้เวลา 15-30 นาที จะเริ่มออกฤทธิ์ และใช้เวลาออกฤทธิ์ในร่างกาย 4-6 ชั่วโมง จึงหมดฤทธิ์ เพราะถูกร่างกายค่อย ๆกำจัดออกไปทางปัสสาวะบ้าง ทางเหงื่อบ้าง อุจจาระบ้าง ฯลฯ ดังนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้ว อาการโรคก็อาจกลับเป็นอีก ก็ต้องกินยาซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง เช่น บางคนทานยาลดไข้ไป 4 ชั่วโมงระหว่างนั้นไม่มีไข้  แต่พอครบ 4 ชั่วโมง ยาหมดฤทธิ์ กลับมามีไข้อีก จึงต้องกินยาซ้ำ

ดังนั้น บางคนบอกว่าทานยาดีคอลเจนหรือทิฟฟี่ครั้งละ 4 เม็ด จึงไม่ถูกหลักวิชา เพราะ ยาทั้ง 4 เม็ดจะหมดฤทธิ์พร้อมกัน ถ้ายังมีอาการเป็นอีก ต้องกินยาซ้ำอีกทุก 4-6 ชั่วโมง จึงควรกินแค่ 2 เม็ดก็พอสำหรับผู้ใหญ่  เพราะยาอีก 2 เม็ดเป็นยาส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เกิดผลเสียคือ ร่างกายต้องทำงานหนักในการกำจัดตัวยาออก และ อาจเกิดผลข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้นได้ เช่น อาการง่วงมากขึ้น ฯลฯ

เวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ร้านยา บางคนที่เข้ามาซื้อยา จะบอกว่า เคยกินทั้งดีคอลเจนและทิฟฟี่ รู้สึกว่าทิฟฟี่กินแล้วง่วงมากกว่าดีคอลเจน" บางคนบอกว่า "รู้สึกว่ายาทิฟฟี่แรงกว่าดีคอลเจนในฐานะเภสัชกร ขอวิเคราะห์กระบวนการผลิตยาของทั้งสองบริษัท ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณตัวยาได้ ขอเล่าคร่าว ๆ คือ

โดยปกติ เวลาผลิตยา เขาจะผสมตัวยาครั้งละหลายกิโลกรัมรวมกัน แล้วมาตอกเป็นเม็ดยาได้ทีละ พัน ๆ เม็ด จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักเม็ดยาหาค่าเฉลี่ยต่อเม็ดให้ได้น้ำหนักที่กำหนด ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนได้ บวกลบไม่เกิน 10 %
สมมติ ผู้ผลิตบริษัท ก. มีความคลาดเคลื่อนของปริมาณยาไม่เกิน 5% ยา chlorpheniramine จะมีปริมาณอยู่ที่ 1.9 mg-2.1 mg ต่อเม็ด
บริษัท ข. คลาดเคลื่อนไม่เกิน 10% จะมียา chlorpheniramine 1.8 mg -2.2 mg ต่อเม็ด
ซึ่งมาตรฐานการผลิตยากำหนดความคลาดเคลื่อนไม่เกินบวกลบ 10 % จึงถือว่าทั้ง 2 บริษัทได้มาตรฐานตามกำหนด เมื่อดูปริมาณยาแล้วจะแตกต่างกันเล็กน้อยเป็นจุดทศนิยม

ดังนั้น ผู้ผลิตแต่ละรายจะใช้เครื่องมือการผลิตและการวัดค่าได้ละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน ก็อาจส่งผลให้ปริมาณยา,ฤทธิ์การรักษาและผลข้างเคียงแตกต่างกันได้บ้างเล็กน้อย

(หมายเหตุ โดยส่วนใหญ่ โรงงานผลิตยาในประเทศไทยได้มาตรฐานการผลิต GMP ทุกโรงงานอยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงสามารถเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตในประเทศว่าได้มาตรฐานอย่างแน่นอน)

ส่วนการที่จัดให้ยากลุ่มนี้เป็นยาอันตราย ขายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบัน ก็เพราะตามกฏหมายกำหนดไว้ดังนี้

พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำแนกยาเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ
และยาสามัญประจำบ้าน ยาแต่ละกลุ่มจัดขึ้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตามเหตุผลและความจำเป็น เพราะยาแต่ละกลุ่มสามารถกระจายถึงมือผู้บริโภคต่างกัน กล่าวคือ
1.ยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าปลอดภัย โอกาสเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีน้อย ให้วางจำหน่ายได้โดยทั่วไป และผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อด้วยตนเองตามอาการเจ็บป่วย 
2. ยาอันตราย เป็นยาที่ต้องขายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันภายใต้การควบคุมของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ได้แก่ ดีคอลเจน-พริน และทิฟฟี่-เดย์ ดังกล่าว
3. ยาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่จ่ายได้เมื่อมีการนำใบสั่งยามาซื้อยา กลุ่มนี้เป็นยาที่มีความเป็นพิษภัยสูงหรืออาจก่ออันตรายต่อสุขภาพได้ง่าย จึงเป็นยาที่ถูกจำกัดการใช้

ส่วนข้อควรระวังอื่น ๆ ในการใช้ยาดีคอลเจนและทิฟฟี่  อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://pharmacy-muay.blogspot.com/2009/11/blog-post_05.html


Wednesday, January 28, 2015

C.S.I.กับร้านยา

วันนี้ข้าพเจ้าขอเป็น C.S.I ให้กับร้านยาตัวเองหน่อย (หมู่นี้ดูหนังซีรีส์ C.S.I.มากไปหน่อย) C.S.I ย่อมาจาก Crime scene investigation แปลว่า หน่วยพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ

เริ่มจากข่าว เมื่อ 17 ม.ค. 2558 มีเหตุการณ์รีดไถเงินและตีคนตายที่ฝั่งธน ตามข่าวนี้

จับโจรผัวเมียคู่ขารีดไถเงิน ใช้เหล็กตีเหยื่อดับย่านวงเวียน 22 
จับกุมสองโจรคู่ขาก่อเหตุร่วมกันฆ่าผู้อื่นเสียชีวิตย่านวงเวียน 22 หลังเข้ารีดไถเงินผู้เสียหายแต่ขัดขืนจึงใช้ท่อนเหล็กฟาดศีรษะก่อนหลบหนีไป อ้างโมโหที่ผู้ตายแซวแฟนสาว ประกอบกับมีอาการมึนเมาจึงคว้าท่อนเหล็กกระหน่ำตีผู้ตายอ่านรายละเอียดได้ที่นี่http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000006832

ข้าพเจ้าแปลกใจที่ชายที่เป็นคนร้ายมีหน้าตาที่จัดว่าดี มากับแฟนสาวรีดไถเงินคุณลุงแล้วตีคุณลุงจนตาย ซึ่งเหตุการณ์วิธีรีดไถเงินคล้ายคลึงกับที่เกิดที่ร้านยาข้าพเจ้า เพียงแต่ไม่มีใครบาดเจ็บหรือตาย 

ขอวกเข้ามาที่ร้านยาของข้าพเจ้าที่เป็นสถานที่เกิดเหตุ
เหตุการณ์ที่ 1 
มีเหยื่อ 3 ราย
รายที่ 1 คือ ข้าพเจ้าเอง
เมื่อปี 2555 วันหนึ่งตอนกลางวัน หน้าร้านยาของข้าพเจ้าไม่ค่อยมีคนพลุกพล่าน  มีชายหนุ่มคนหนึ่งหน้าตาจัดว่าดี ผมเผ้าเรียบร้อย อายุประมาณ 25-26 ปี โผล่มาบอกว่า ขอยืมเงิน 200 บาท แล้วจะเอามาใช้คืนให้ บอกกำลังเรียกรถTaxiจะพาแฟนไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล และบอกว่า แฟนเรียนพาณิชย์พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้แหละ (ร้านยาของข้าพเจ้าตั้งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน) ตอนนั้น ข้าพเจ้าก็ให้เงินไปให้จบ ๆ เรื่อง 
รายที่ 2  ต่อมา ข้าพเจ้าก็รู้มาว่า หนุ่มคนนี้เป็นคนในหมู่บ้าน และเคยไปขอเงิน 200 บาทจากคุณครูที่เป็นผู้หญิงนั่งทำงานลำพังในบ้านคนเดียว 
รายที่3  ในช่วงวันที่ใกล้เคียงกัน ก็ไปขอเงินกับคุณป้าคนหนึ่งที่กำลังรดน้ำต้นไม้หน้าบ้านคนเดียว 

แสดงว่า มันต้องรู้ความเคลื่อนไหวของแต่ละบ้าน และทุกคนยอมให้เงินมัน มันก็เลยทำบ่อย แต่คุณป้าคนที่รดน้ำต้นไม้จำได้ว่า แม่ของหนุ่มคนนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วย ตอนหลังก็ไม่ได้ยินเรื่องหนุ่มคนนี้ไปขอเงินใครอีก (สันนิษฐานว่า คงจะมีคนไปเตือนแม่เขา)
เหตุการณ์ที่ 2  เกิดที่ร้านยาข้าพเจ้า(อีกแล้ว)
ปีต่อมา 2556 วันหนึ่งตอนเกือบสองทุ่ม มีหนุ่มท้วมนิด ๆ ผิวขาว อายุประมาณ 30 ต้น ๆ ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้าน บอกขอเงิน 200 บาท อ้างว่าแฟนมาซื้อยาคุมกำเนิดร้านนี้ประจำ ข้าพเจ้าบอกว่าไม่มี และเตรียมหลบเข้าหลังร้าน  หนุ่มคนนั้นทำหน้าไม่พอใจ แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป โชคดีที่ข้าพเจ้าปิดประตูชั้นในที่เป็นซี่ลูกกรงไว้ก่อนแล้ว
ต่อมา ข้าพเจ้า เจอคนหน้าตาคล้าย ๆ กันขี่มอเตอร์ไซค์มาซื้อก๋วยเตี๋ยวแถวร้านยา  จึงรู้ว่า เขาเป็นคนย่านนี้เอง

จากสองเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าเจอ ก็คือ ผู้ขอเงินมีการลงมือคล้าย ๆ กัน คือหน้าตาดี อ้างเรื่องแฟนสาว ขอเงินประมาณ 100-200 บาท ถ้าใครควักเงินให้ง่าย ๆ มันจะขอเพิ่ม และเลือกเหยื่อเป็นหญิงอยู่ตามลำพัง โดยผู้ต้องสงสัยจะเป็นคนในย่านเดียวกับเหยื่อ

และเมื่อนำเหตุการณ์2 เหตุการณ์จากร้านยาเปรียบเทียบกับข่าวด้านบนแล้วไม่ต่างกัน 

C.S.I. ขอวิเคราะห์ว่า การลงมือของกลุ่มคนเหล่านี้ (ซึ่งคงจะถ่ายทอดวิธีการเดียวกันนี้ให้กัน)จะเริ่มรุนแรงขึ้น คนกลุ่มนี้มีลักษณะหน้าตาดี พูดจาดีมีข้ออ้าง มากับแฟนสาว หรืออ้างแฟนสาว รู้ความเป็นอยู่ของเหยื่อ เพราะอาศัยอยู่ย่านเดียวกัน จากขอเงินทีละน้อย เป็นขอเงินเพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าเหยื่อให้เงินง่าย ๆ เช่น ตอนแรกบอกขอ 100 บาท พอเหยื่อให้ง่าย ๆ ก็จะขอเพิ่มอีก 100 บาท และสุดท้ายอาจทำร้ายร่างกายเหยื่อ โดยอ้างว่าทำไปเพราะเมา หรือเพราะโดนเหยื่อด่า

บทความนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน ให้รู้เท่าทันและระวังป้องกันภัยให้กับตัวเองตลอดเวลาแม้แต่อยู่ในบ้านของตนเอง