Tuesday, October 1, 2013

ยาลดน้ำมูกในเด็กเล็ก และ คำแนะนำในการล้างจมูก

ยาลดน้ำมูกในเด็ก

ถาม  เมื่อเด็กเป็นน้ำมูก ควรใช้ยาลดน้ำมูกในเด็กอย่างไร

อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า หวัด พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ กลุ่มโรคไข้หวัด และกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก
กลุ่มโรคไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักมีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ร่วมกับอาการหวัด คือ อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม ในการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการพร้อมกับการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด

ส่วนกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก เป็นความผิดปกติ ของระบบภูมิคุ้มกันที่มีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มากกว่าปกติ ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูกและจาม โดยไม่มีอาการของการติดเชื้อ เช่น ไข้ ตัวร้อน ปวดหัว เป็นต้น ในเด็กโตถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม เพียงเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น แต่ในเด็กเล็กเมื่อมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม มักเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหายใจไม่สะดวก ร้องไห้ กวน โยเย นอนไม่หลับ และทำให้ดื่มนมได้น้อยลง

ในการรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี ทั้งชนิดที่ต้องใช้ยาและชนิดที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษา ยาที่ใช้ในการรักษา
อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี 2 กลุ่มใหญ่
1. 
ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines)
2. 
ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)

ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (antihistamines)
เป็นยาที่มีการใช้กันมานานแล้ว มีฤทธิ์ทำให้น้ำมูกแห้งแก้คันจมูก คันตา ลมพิษ และอาการแพ้ทางผิวหนัง โดยยารุ่นเก่า เช่น คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) ที่เป็น เม็ดเล็กสีเหลือง เป็นยาที่
ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ผลดี แต่มีผลทำให้ง่วงนอน จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเวลาทำงาน โดยเฉพาะทำงานเครื่องจักรหรือขับขี่รถ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่เหมาะสำหรับให้กับผู้ป่วยตอนก่อนนอน ที่ต้องการให้ง่วงนอน นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่สั้นทำให้ต้องใช้วันละ 3-4 ครั้ง และมีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้ง คอแห้ง เสมหะเหนียวข้นมากขึ้นด้วยจึงได้มีการพัฒนายาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่ที่ไม่ทำให้เกิด ผลข้างเคียงเรื่องง่วงนอนเช่นยารุ่นเก่า ทั้งยังออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ใช้ยาเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ทำให้สะดวกสบาย ในการใช้ยา โดยไม่ส่งผลกระทบกับการทำงานตามปกติมีการใช้ยากลุ่มนี้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มโรคไข้หวัด และกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหลในเด็ก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลดีในโรคไข้หวัดในเด็ก ทั้งยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ง่วง ซึม และชักได้ ดังนั้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ และแนะนำให้การดูแลในการกำจัดน้ำมูกออกพร้อมทั้งทำให้โล่งจมูกชนิดอื่นๆ แทนจะปลอดภัยกว่า

ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการคัดจมูก จึงทำให้โล่งจมูก และยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ขยายหลอดลมด้วย จึงทำให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ที่มีใช้กันมี 2 ชนิด คือ 
ชนิดกิน และชนิดทาภายนอกโดยการเช็ดจมูก 
ยาลดการคั่งของน้ำมูกชนิดกิน เช่น phenylephrine, pseudoephedrine เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก แต่ในเด็กบางคนที่ไวต่อยากลุ่มนี้ อาจมีอาการข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ร้องกวน โยเยได้  

ยาลดการคั่งของน้ำมูกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดทาภายนอก เช่น ephedrine  เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก ถ้าใช้อย่างถูกวิธีและไม่ควร
ใช้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดจมูกได้ (rebound congestion) อันเนื่องจากอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานานเกินไป

อนึ่งในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด เนื่องจากข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงของยาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่แนะนำให้แก้ไขปัญหาอาการหวัดได้ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้น

การดูแลเบื้องต้นเมื่อเด็กเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล
1.ถ้าน้ำมูกมาก แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้านุ่มๆ ที่ม้วนปลาย ค่อยๆ สอดเข้าไปในรูจมูก เพื่อซับน้ำมูกออกมา หรือใช้ลูกยางแดง (ที่ดูดน้ำมูกสำหรับเด็ก)  ค่อยๆ ดูดน้ำมูก ออกทีละน้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการอุดตันของรูจมูก เด็กจะหายใจได้ดีขึ้น ถ้าเป็นเด็กโตก็ควรแนะนำหรือ สอนวิธี การสั่งน้ำมูก เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจในจมูกโล่งดียิ่งขึ้นได้ด้วยตนเอง

2.
ถ้ามีการอุดตันของรูจมูก หรือน้ำมูกแห้งกรัง แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้านุ่มๆ ที่ม้วนปลายชุบน้ำเกลือ ร้อยละ 9 (Normal saline solution) เช็ดหรือหยดในรูจมูกให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้สักพัก เพื่อช่วยให้น้ำมูกที่แห้งกรัง ค่อยๆ อ่อนนุ่มลง แล้วจึงใช้ไม้พันสำลีค่อยๆ เช็ดออกไป นอกจากนี้ ควรแนะนำให้เด็กดื่มน้ำมากๆ กินอาหาร ตามปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับโรคเหล่านี้  ในเด็กที่มีเคยมีประวัติโรคหืด หูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ ควรระวังมากขึ้นเมื่อเป็นหวัด  เพราะอาจทำให้กลับมาเป็นโรคเหล่านี้ได้อีกหรือทำให้โรคลุกลามรุนแรงมากขึ้น
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาลดน้ำมูก หรือการดูแลโรคหวัดในเด็กควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพทุกด้านแก่ท่าน


รายละเอียดอ่านเพิ่มได้ที่ http://www.doctor.or.th/article/detail/3044

คำแนะนำในการล้างจมูก

รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน
ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




            การล้างจมูก เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก  หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส หรือหลังการฉายแสงออก ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ  เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง   ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก  น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ     นอกจากนั้นการล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น  ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น    การล้างจมูกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
            1.  ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ  โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก   การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก   อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้    การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้   หลังจากนั้นปิดไฟ   แล้วนำขวดน้ำเกลือที่แพทย์จ่ายให้ใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลสามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้น ขึ้นมาเทใส่ภาชนะปากกว้าง เช่น ชาม  ในขนาดพอประมาณ ที่จะทำการล้างในเวลานั้นๆ หรืออาจเทน้ำเกลือลงในภาชนะที่สามารถอุ่นในไมโครเวฟได้ แล้วอ่นในไมโครเวฟให้อ่นพอประมาณ  ในกรณีที่อยากทำน้ำเกลือไว้ล้างเอง  อาจทำได้โดย ต้มน้ำประปาในขนาด ขวดแม่โขง (750 ซีซี) ในหม้อต้มให้เดือด   หลังจากนั้นใส่เกลือแกง หรือเกลือป่นที่ใช้ปรุงอาหารลงไป ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน   หลังจากนั้นจึงปิดไฟ และตั้งทิ้งไว้ให้อุ่น (น้ำเกลือที่เตรียมเอง ควรใช้ภายใน วันเท่านั้น ที่เหลือควรทิ้งไป) ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน   น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้
            2.  ควรล้างจมูกบนโต๊ะ  โดยหาภาชนะมารองรับน้ำเกลือหลังล้าง ที่จะออกมาทางจมูก และปาก เช่น ชาม หรือกะละมัง หรือล้างในอ่างล้างหน้า
            3.  ใช้ลูกยางแดง หรือ กระบอกฉีดยาที่แพทย์จ่ายให้ ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในปริมาณน้อยๆก่อนเช่น ประมาณ 10-15 ซีซี ในผู้ใหญ่  หรือประมาณ ซีซี ในเด็ก
            4.  ผู้ที่จะล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า และก้มหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือหลังจากที่ล้างแล้ว   ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่า หรือ คัดน้อยกว่าก่อน
            5. ควรนำปลายของลูกยางแดง หรือปลายกระบอกฉีดยา ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้ แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้
            6.  บีบลูกยางแดง หรือดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยา เบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ  หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ไหลออกมาจากจมูก และ / หรือ ปากแล้ว  ให้หายใจตามปกติได้   ข้อสำคัญคือ ระหว่างที่น้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จะต้องกลั้นหายใจไว้ มิฉะนั้นอาจหายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลมทำให้เกิดการสำลักได้
            7.  หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูก และรู้จังหวะของการหายใจแล้ว จึงค่อยๆเพิ่มปริมาณของน้ำเกลือในการล้างแต่ละครั้งขึ้นเรื่อยๆ    การล้างจมูกให้ได้ประสิทธิภาพในการชำระล้างโพรงจมูกให้สะอาดนั้น  ควรจะดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบนและล่างของโพรงจมูก   เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้ทั่วทั้งโพรงจมูก และออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้       หลังจากฉีดล้างโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง  ควรจะมีน้ำเกลือไหลออกจากโพรงจมูกอีกข้าง  ถึงจะเป็นการล้างที่ถูกต้องคือ มีปริมาณของน้ำเกลือที่ใช้ล้างในแต่ละครั้ง และมีความแรงของน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปเพียงพอ   ควรล้างโพรงจมูกสลับข้างไปเรื่อยๆ เช่น หลังล้างข้างซ้าย ก็ควรย้ายไปล้างข้างขวา  แล้วสลับกันไปมา
            8.  การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง  ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูกและปาก จะใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้
            9.  หลังจากล้างเสร็จ สามารถสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก  และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้   การล้างจมูกอย่างถูกต้องบ่อยๆ จะไม่เกิดโทษ หรืออันตรายต่อจมูก หรือร่างกาย   ในทางตรงกันข้าม จะมีประโยชน์โดยช่วยล้างน้ำมูก  สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก    ดังนั้นในช่วงวันหยุด ถ้าล้างเพิ่มได้ ก็ควรจะทำ    ควรล้างจมูกก่อนการอบจมูกด้วยไอน้ำเดือด หรือการพ่นยาในจมูกเสมอ   แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก
            10.  หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง  ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด (ในกรณีที่ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาที่ทำจากแก้ว  หลังจากล้างแล้วควรนำมาต้มกับน้ำเดือด ประมาณ นาที) แล้วผึ่งให้แห้ง

2. การสูดไอน้ำร้อน
จะช่วยทำให้จมูกโล่ง อาการคัดแน่นจมูกน้อยลง อาการปวดตื้อๆที่ศีรษะดีขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้การพ่นยาเข้าไปในจมูก มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสูดไอน้ำร้อนนั้นจะใช้น้ำเดือดธรรมดา หรืออาจจะใส่ยาที่แพทย์สั่งให้ ลงไปในน้ำเดือดด้วยก็ได้ ส่วนใหญ่ยาที่ใส่ร่วมกับน้ำเดือดเป็นสมุนไพรช่วยลดอาการอักเสบภายในโพรงจมูก ทำให้จมูกโล่งมากขึ้น
 การสูดไอน้ำร้อนมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
2.1 ต้มน้ำสะอาดในหม้อต้มให้เดือด และเตรียมภาชนะปากกว้าง เช่น ชามหรืออ่าง ที่ทำด้วยวัสดุทนความร้อน สำหรับใส่น้ำเดือดไว้สูดไอน้ำร้อน
2.2 เทน้ำเดือดจากหม้อต้ม ใส่ภาชชนะที่เตรียมไว้ ในกรณีที่แพทย์ไม่ได้สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด สามารถเริ่มสูดไอน้ำได้เลย (ดูข้อ 2.3) ในกรณีที่แพทย์สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด ควรเริ่มเติมยาลงไปขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น ประมาณครึ่งฝาขวดยา หรือครึ่งช้อนชา ถ้ากลิ่นไม่ฉุนเกินไปหรือผู้ป่วยทนได้ อาจเพิ่มขนาดได้ในครั้งต่อไป หรือจะใช้ขนาดที่พอใจก็ได้ หลังจากนั้นคนให้ยาผสมเข้ากับน้ำเดือดให้ดี
2.3 ยื่นหน้าไปอังอยู่เหนือน้ำเดือด ซึ่งอยู่ในภาชนะที่เตรียมไว้ สูดหายใจเข้าออกปกติ โดยอาจนำผ้าเช็ดตัวหรือผ้าสะอาดผืนใหญ่มาคลุมโปงทั้งศีรษะและภาชนะใส่น้ำเดือด หรืออาจพับกระดาษหรือแผ่นพลาสติก เป็นรูปกรวยหรือรูปทรงกระบอก ช่วยในการครอบจมูกและปากก็ได้
2.4 ถ้าไอน้ำเดือดร้อนมากเกินไป ขณะสูดไอน้ำร้อน อาจพักชั่วคราวโดยเอาหน้าออกจากภาชนะที่ใส่น้ำเดือด พอรู้สึกดีขึ้นหรือร้อนน้อยลง ค่อยสูดไอน้ำร้อนต่อ ควรสูดไอน้ำร้อนจนกว่าไอน้ำจะหมด และควรจะสูดไอน้ำร้อนก่อนการพ่นยาในจมูกเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก
 3. การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูก
โรคของจมูกบางชนิด อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในการรักษา เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่ช่วยปรับความไวของจมูกต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้จมูกมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคืองในอากาศน้อยลง โรคริดสีดวงจมูก ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น โรคไซนัสอักเสบ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะช่วยลดอาการอักเสบในจมูก ช่วยทำให้รูเปิดของไซนัสที่มาเปิดในโพรงจมูกโล่งขึ้น ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศ การระบายของสารคัดหลั่งหรือหนองที่อยู่ภายในไซนัสดีขึ้น ในกรณีผู้ป่วยนอนกรน การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก พ่นวันละครั้งก่อนนอน จะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และจะยังช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้ การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกนี้ไม่มีอันตรายต่อเยื่อบุจมูก ถ้าใช้อย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกที่ถูกต้อง นอกจากจะทำให้ผลของการรักษาดีแล้ว ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ผิดวิธีน้อยลงด้วย
 การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกควรมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
3.1 เขย่าขวดทุกครั้งก่อนใช้ยา ในกรณีที่เป็นขวดใหม่ที่เพิ่งซื้อก่อนใช้พ่นจริง ตั้งขวดยาให้ตรง และกดให้ยาพ่นออกมาในอากาศเป็นละอองฝอยสัก 2-3 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ระบบขับเคลื่อนยาทำงานในกรณีที่พ่นยาเป็นประจำทุกวันแล้ว ไม่จำเป็นต้องกดยาให้พ่นออกมาในอากาศ ก่อนใช้จริงทุกครั้ง
3.2 ควรพ่นยาในจมูก หลังจากที่ทำให้จมูกโล่งแล้ว โดยอาจจะพ่นตามหลังการสั่งน้ำมูก หรือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่น หรือการสูดไอน้ำร้อน หรือการออกกำลังกาย
3.3 การจับขวดยา ควรใช้นิ้วชี้และนิ้วกลาง วางอยู่ที่บริเวณไหล่ขวดยา และใช้นิ้วหัวแม่มือวางอยู่ที่ก้นขวด (ปัจจุบันมีบริษัทยาออกแบบขวดยาใหม่เป็นชนิดที่มีปุ่มกดยาด้านข้างขวด)  แล้วนำส่วนปลายของขวดยาพ่นจมูกหรือหัวที่พ่นยา ใส่เข้าไปในโพรงจมูกด้านหน้า ข้างตรงข้ามกับมือที่ถือขวดยา เช่น ควรใช้มือซ้ายในการพ่นยาเข้าจมูกขวา หรือควรใช้มือขวา ในการพ่นยาเข้าจมูกซ้าย เวลาใส่หัวที่พ่นยาเข้าไปในรูจมูก ไม่ควรใส่ลึกเกินไป เพราะจะทำให้ชนกับเยื่อบุจมูก ทำให้เจ็บได้และควรส่องกระจกดูด้วย โดยพยายามให้หัวที่พ่นยาชี้ไปที่กึ่งกลางของลูกตาข้างที่จะพ่น เช่น ในการพ่นยาเข้าจมูกข้างขวา ควรใช้มือซ้ายในการพ่น  โดยให้หัวที่พ่นยาชี้ไปที่กึ่งกลางของลูกตาข้างขวา
จุดประสงค์ของการพ่นยาในแนวเฉียง เพื่อให้ยาไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของโพรงจมูกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ให้พ่นยาเข้าไปที่ผนังกั้นช่องจมูกซึ่งอยู่ตรงกลาง เพราะอาจทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเป็นแผลและมีเลือดกำเดาไหลได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ถนัดในการใช้มือบางข้างในการพ่นจมูก อาจใช้มือข้างที่ถนัด พ่นยาเข้าไปในจมูกทั้ง 2 ข้างในทิศทางดังกล่าวข้างต้นได้
3.4 เมื่อพร้อมที่จะพ่นยาเข้าไปในโพรงจมูก ให้กลั้นหายใจและกดยาอย่างเร็วและแรง เพื่อให้ยากระจายออกมาเป็นละอองฝอย หลังจากนั้นให้เงยหน้าขึ้น และเอียงศีรษะไปด้านข้างที่พ่นเล็กน้อยเป็นเวลาครึ่งนาที จุดประสงค์ของการปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อให้ยาพ่นจมูกไหลฉาบผนังด้านข้างของโพรงจมูกไปด้านหลัง อย่างช้าๆ หลังจากนั้นจึงพ่นยาในจมูกอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน ในรายที่แพทย์สั่งให้พ่นจมูกข้างละ 2 ครั้ง ควรพ่นจมูกข้างละ 1 ครั้ง ให้ครบทั้ง 2 ข้างก่อน แล้วจึงเริ่มพ่นครั้งที่ 2 ให้ครบทั้ง 2 ข้าง ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น
3.5 หลังจากพ่นยาในจมูกเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดหัวที่พ่นยาด้วยผ้า หรือกระดาษชำระชุบน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งและครอบฝาปิดและหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกภายในระยะเวลา 15 นาที หลังพ่นยา
3.6 หากหัวที่พ่นยาตัน อาจเกิดจากน้ำมูกเข้าไปอุดรูเปิด อาจลองกดให้ยาพ่นออกมาในอากาศสัก 2-3 ครั้ง ถ้ายังตันอยู่ อาจถอดหัวที่พ่นยาออกมาแช่ในน้ำอุ่นสัก 15 นาที แล้วใช้เข็มปลายแหลมที่สะอาด ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารูเปิด ทำความสะอาดให้หายตัน
การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกในช่วงระยะแรกของการรักษา ควรพ่นทุกวันอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยาให้ โดยหลังพ่นไปสักระยะหนึ่ง แพทย์จะลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จึงควรมารักษาสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ไม่ควรหยุดการรักษาหรือปรับขนาดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำ เพื่อให้การรักษาโรคจมูกมีประสิทธิภาพสูงสุด


No comments:

Post a Comment