Saturday, September 8, 2012

Haemovit (เฮโมวิต)ยาบำรุงร่างกายเม็ดสีแดง



วันนี้ที่ร้านยา มีหญิงอายุประมาณ 25-26 ปี มาขอซื้อ ยาบำรุงเลือดที่ชื่อเฮโมวิตให้สามีและเล่าว่า ได้ไปโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้ พาสามีไปให้แพทย์ตรวจด้วยพบว่า สามีเป็นธาลัสซีเมีย (ไม่ได้บอกว่าเป็นธาลัสซีเมียประเภทไหน) สามีจะกินข้าวได้น้อย ไม่มีแรง ตอนเด็ก ๆ แม่เคยให้ทานเฮโมวิต วันนี้เลยให้ภรรยามาซื้อไปกิน ข้าพเจ้าก็ดูสูตรเฮโมวิต ประกอบด้วย
1.Ferrous Sulfate(=ธาตุเหล็ก)        135 mg,
2.Aneurine HCL (=Thiamine,B1)        2 mg
3.Pyridoxine HCL(=B6)                  0.5 mg, 
4.Cyanocobalamine (=B12)                5 mcg 

(โรคโลหิตจาง มีหลายชนิด บางชนิดต้องทานวิตามินธาตุเหล็กเสริม แต่บางชนิดห้ามทานธาตุเหล็ก เพราะยิ่งทำให้มีอาการมากขึ้น  โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่มีธาตุเหล็กเกิน จึงห้ามทานยาบำรุงเลือดที่เป็นธาตุเหล็ก) ดังนั้น ยาบำรุงเลือดที่ใช้ในคนเป็นโรคธาลัสซีเมียได้จริง ๆ  คือ Folic Acid (โฟลิค แอซิด) 5 mg ไม่ใช่ธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในเฮโมวิต
                  สรุปในคนไข้กรณีนี้มีอาการอ่อนเพลีย ทานข้าวได้น้อย น่าจะขาดสารอาหาร ข้าพเจ้าจึงจัดยากลุ่มวิตามินรวมที่ไม่มีธาตุเหล็กให้ไป แล้วก็แนะนำว่าอย่าไปซื้อยาบำรุงเลือดทานเอง
หมายเหตุ โรคธาลัสซีเมียมีหลายประเภท บางประเภทไม่รุนแรง บางประเภทก็รุนแรง 

ขอคัดลอกบทความจาก
 www.thaihealth.or.th

"ธาลัสซีเมีย" โรคซีดแอบแฝง..?
พบไทยเป็นพาหะแล้วถึง 20 ล้านคน

คนไทยที่เดินขวักไขว่ไปมา คุณเชื่อหรือไม่ว่าประมาณ 30 เปอร์ เซ็นต์มีภาวะแฝงเป็นพาหะ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อทางพันธุกรรมต่อไปถึงบุตรหลาน หากไม่รู้จักวิธีป้องกัน โรคร้ายนี้อาจสร้างความทุกข์ทรมานสู่ทายาทของคุณ รวมทั้งตัวคุณด้วย

 ธาลัสซีเมีย พบมากในประเทศไทยและพบได้ทั่วโลก ถือเป็นโรคซีดชนิดหนึ่งที่เป็นกันในครอบครัว หรือที่เรียกว่า โรคทางพันธุกรรม ที่มีการสร้างสารฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง เม็ดเลือดแดงจะมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ผู้ที่เป็นโรค นี้จะได้รับยีนที่ควบคุมการสร้าง ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ผิดปกติมาจากทั้งพ่อและแม่

 ยีนธาลัสซีเมียแบ่งได้ 2 แบบ ที่สำคัญ คือ เป็นพาหะ หมายถึงผู้ที่มียีนผิดปกติหรือพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียเพียงยีนเดียว หรือยีนที่คู่กันปกติ เรียกว่า เป็นเฮทเทอโรซัยโกตหรือเทรต (Heterozygote, Trait) มียีน ธาลัสซีเมียแฝงอยู่ จะมีสุขภาพดีปกติต้องตรวจเลือดวิธีพิเศษจึง จะบอกได้ว่าเป็นพาหะ เพราะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกตินี้ไปให้ลูกได้ พาหะอาจให้ยีนที่ปกติหรือยีนที่ผิดปกติไปให้ลูกก็ได้ และ เป็นโรค หมายถึงผู้ที่รับยีนผิดปกติหรือพันธุกรรมของโรค ธาลัสซีเมียพวกเดียวกันมาจากทั้งพ่อและแม่ ผู้ป่วยจึงมียีนที่คู่กันผิดปกติทั้งสองยีนและจะถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติยีนใดยีนหนึ่ง ต่อไปให้ลูกของแต่ละคนด้วย

 ในปัจจุบันโรคธาลัสซีเมียจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย รศ.ดร. นพ.วิปร วิประกษิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถิติผู้ป่วยว่า ประชากรชาวไทยมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านคน มีภาวะแฝงของโรคดังกล่าวและมี ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า1 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 600,000 คนทั่วประเทศไทย หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสมเต็มที่ตามระดับความรุนแรงของโรค จะมีอาการซีดเรื้อรัง เหลือง ตับ ม้ามโต การเจริญเติบโตไม่สม อายุมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก และมีอายุขัยสั้น

 ดังนั้นการพัฒนาการดูแลและรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญ ที่จะต้องกระทำควบคู่กันไปกับการควบคุมป้องกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplantation) แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายของการรักษา ทั้งในด้านจำนวนของผู้บริจาคไขกระดูกที่มีจำกัด ความเสี่ยงจากการรักษาที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัดและค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาด้วยการให้เลือดเพื่อชดเชยภาวะซีดและทดแทนการทำงานของไขกระดูกที่ผิดปกติ จึงยังมีความสำคัญและจำเป็น อย่างยิ่ง โดยประมาณการว่ามีผู้ ป่วยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ

 นอกจากทางโรงพยาบาลจะมีการจัดตั้งคลินิกธาลัสซีเมียขึ้น เพื่อให้บริการให้เลือดแก่ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 250 รายต่อปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แล้ว ล่าสุดยังได้ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ ในการจัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย” เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งพยาบาลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการอบรมไปปฏิบัติงานทั้งในด้านการให้เลือด การให้ยาขับเหล็กและ คำแนะนำทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียอย่างถูกต้อง ซึ่งได้มีการเปิดอบรมครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือเป็นการอบรมครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับผลตอบรับที่ดีและจะจัดอบรมอย่างต่อเนื่องต่อไป

 ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนอกจากจะได้รับการดูแลสุขภาพและมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการรับประทานยาที่ได้รับจากแพทย์เป็นประจำแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพผู้ป่วยไม่แพ้กัน อ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องระวังหรือจำกัดอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ แต่สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงบางรายภาวะทุพโภชนา การอาจจะเป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะขาดสารอาหารหลายชนิด เช่น โฟเลทและสังกะสี จึงควรรับประทานเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีระดับวิตามินซีและอีในเลือดลดลง ดังนั้นการได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบ ถ้วนเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี มีการเติบโตและพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

 วิธีการป้องกันสำหรับโรคธาลัสซีเมีย ถ้าคู่สมรสที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ไม่ได้มีข้อห้ามมิให้แต่งงานกัน แต่ก่อนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะปัจจุบันการแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์อ่อน ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ด้วยการเจาะน้ำคร่ำหรือตัดชิ้นเนื้อส่วนเล็ก ๆ ของทารกมาวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ถ้าพบทารกเป็นโรคคู่สมรสต้องมารับคำปรึกษาทางพันธุกรรมต่อเนื่อง หากการดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมารดา คู่สมรสมีสิทธิตัดสินใจ ที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการ ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยัง น้อย ๆ ได้

 ถ้ามีความเข้าใจโรคธาลัสซีเมีย การเป็นพาหะไม่ใช่สิ่ง น่ากลัวหรืออันตรายอีกต่อไป หากเราขอคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและตระหนักถึงการวางแผนครอบครัวที่ดีก็จะทำให้ คู่สมรสที่เป็นพาหะสามารถป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมียใหม่ในประชากรโลกได้ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงถ้วนหน้าและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์                
ส่วนความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

2 comments:

  1. ดีจังที่มีเภสัชใส่ใจ เภสัชบางคน(ไม่รู้ว่าแท้ไหม) ก็สักแต่จะจ่ายยาเพื่อขาย ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์นะคะ

    ReplyDelete
  2. เป็นโรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำทานเฮโมวิตได้ไหมคะ

    ReplyDelete