Thursday, November 14, 2013

Tranexamic acid ในเครื่องสำอาง

สองสามวันก่อน มีผู้หญิงนำเครื่องสำอางชุดทาแก้สิว มาเสนอวางขายที่ร้านยาของข้าพเจ้า โดยอ้างว่าเป็นของร.พ.ดังย่านจรัลฯ เขาบอกว่าเขาวางขายมานานแล้ว ข้าพเจ้าได้หยิบขวดเครื่องสำอางมาดูฉลาก มีตัวยา Tranexamic acid แทบทุกขวดเลยทั้งขวดที่อ้างว่าแก้สิวและขวดที่เป็นบำรุงผิว ข้าพเจ้าไม่รับไว้ เพราะถ้าคนซื้อไปใช้แล้วแพ้ขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบล่ะ

ส่วนยา  Tranexamic acid มีบทความของมหิดล ทำวิจัยไว้จากลิ้งค์นี้
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/research_special_abstract.php?num=9&year=2543
การพัฒนาตำรับที่มี Tranexamic acid เป็น Whitening agent
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของ tranexamic acid ในการลดรอยคล้ำที่ผิวหนัง เริ่มต้นพัฒนาตำรับโลชั่นอีมัลชั่น 6 ตำรับ คัดเลือกโลชั่นพื้นที่เข้าเกณฑ์มาผสมกับตัวยาในความแรง 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ทดสอบชนิดของอีมัลชั่น, วัดความเป็นกรดด่าง, วัดความหนืด ที่ 30 องศาเซลเซียส และทดสอบความคงตัวทางกายภาพ คัดเลือกตำรับที่มีความคงตัวมาทดสอบความระคายเคืองและการแพ้ในอาสาสมัครหญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 20–25 ปี จำนวน 6 ราย ทดสอบฤทธิ์ในการลดรอยคล้ำบนแผ่นหลังอาสาสมัครชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 20-25 ปี จำนวน 10 ราย โดยทาโลชั่นยาปริมาณ 2 ไมโครลิตร/ตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 7 และ 3 วัน ทุกวัน เช้า–เย็นและ 30 นาที ก่อนฉายรังสีอุลตราไวโอเลตเอ (UV-A) ครั้งเดียวด้วยเครื่อง UVASUN 3000 unit นาน 26 นาที 40 วินาที เทียบกับผิวหนังเปล่า สังเกตรอยคล้ำทันที และหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง แปลผลทางสถิติโดยใช้ paired t-test ที่ระดับ อัลฟ่า = 0.05 จากผลการวิจัยพบว่ามีตำรับโลชั่นอีมัลชั่นชนิด o/w 3 ตำรับที่ผ่านการคัดเลือกคือ ตำรับที่ 2, 3 และ 6 ความเป็นกรดด่างของโลชั่นทั้ง 3 ตำรับ เท่ากับ 7.0 ความหนืดเฉลี่ยเท่ากับ 2,459, 1,014.4 และ 707.4 เซนติพอยส์ ตามลำดับ เมื่อทดสอบความคงตัวทางกายภาพพบว่าตำรับที่ 2 และ 3 แยกชั้น และตำรับที่ 6 คงตัว ผลการทดสอบฤทธิ์ลดรอยคล้ำของโลชั่นยาที่ทาแผ่นหลังไว้ล่วงหน้า 7, 3 วัน และ 30 นาที ก่อนฉายรังสี พบว่าจากการอ่านผลทันทีจะทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.07, 0.07 และ 0.08) ตามลำดับ และการอ่านผลหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ช่องที่ทายาทั้งสามช่องทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.40, 0.28 และ 0.06) ตามลำดับ เช่นเดียวกัน จากการวิจัยครั้งนี้พบว่าโลชั่น tranexamic acid 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรมีผลลดรอยคล้ำจากแสง UV-A ที่ฉายจากเครื่อง ในผิวหนังของอาสาสมัครชายอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

และเมื่อเดือนก่อนมีคนมาถามหาซื้อยา Transamin (=Tranexamic acid ) ชนิดแคปซูล จะทานรักษาฝ้า ซึ่งอ.ย.เคยแจ้งเตือนอันตรายจากการใช้ยาตัวนี้ตามลิ้งค์นี้http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=378

คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนอันตรายจากการใช้ยา “tranexamic acid”

เนื่องจากมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของยา “tranexamic acid” ว่าสามารถสร้างเม็ดสีเมลานินและลดสีผิวให้อ่อนลง ลดฝ้า กระ จุดด่างดำให้จางลง ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้อนุญาตในการขึ้นทะเบียนยาในข้อบ่งใช้ดังกล่าว สำหรับข้อบ่งใช้ของยา“tranexamic acid” คือ ใช้ในกรณีที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติในโรคบางชนิดเช่น leukemia, aplastic anemia เป็นต้น และภาวะเลือดออกมากระหว่างหรือหลังการผ่าตัด รวมทั้งภาวะเลือดออกมากผิดปกติเฉพาะที่

สำหรับอาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมอง ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตัน คนสูงอายุและควรลดขนาดยาลงในผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ รวมทั้งห้ามใช้ยาในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยา“tranexamic acid”ต้องได้รับการตรวจวัดการมองเห็นสม่ำเสมอ

ยา“tranexamic acid” จัดเป็นยาอันตราย ต้องมีการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น 

No comments:

Post a Comment