Monday, June 2, 2014

ยาอดบุหรี่แบบชาวบ้าน

มช.พบสมุนไพร หญ้าดอกขาว ช่วยเลิกบุหรี่ แถมลดเครียด
สมุนไพรหญ้าดอกขาวหรือหญ้าหมอน้อย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันหาวิธีช่วยผู้เลิกบุหรี่ พบผลวิจัยสมุนไพรหญ้าดอกขาวหรือหญ้าหมอน้อย ร่วมกับการออกกำลังกาย ช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ผลเกินคาด เกือบร้อยละ 80 ไม่มีอาการข้างเคียง แถมลดเครียด ลดก๊าซในลมหายใจ
       
       ดร.ดลรวี ลีลารุ่งระยับ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก และบุหรี่ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายต่างๆ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 9.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชายร้อยละ 95.6 และหญิงร้อยละ 4.4 ในกลุ่มผู้สูบเหล่านี้เคยคิดจะเลิกสูบบุหรี่ร้อยละ 27.7 และเคยพยายามเลิกอย่างน้อย 1 ครั้งร้อยละ 6.3 ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่จะสามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้
       
       สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ร้อยละ 1.2 นิยมใช้บริการคลินิกอดบุหรี่ ซึ่งมีการใช้พฤติกรรมบำบัดประกอบกับการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ทั้งในรูปของสารทดแทนนิโคติน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการวิจัยสมุนไพรที่ช่วยให้ลดการสูบบุหรี่ พบว่า สมุนไพรหญ้าดอกขาว หรือ สมุนไพรหญ้าหมอน้อย สามารถช่วยทำให้ลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ดี โดยไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด ช่วยให้ระดับของก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ในลมหายใจลดลงได้ 
       
       จากการทดลองในกลุ่มที่ใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อย จำนวน 50 ราย ร่วมกับการออกกำลังกาย เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถช่วยลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้มากถึงร้อยละ 62.7 และหากใช้ยาเป็นเวลา 6 เดือน จะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 73.3 ซึ่งมีผลทำให้ระดับความเครียดลดลงได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว และกลุ่มได้รับหญ้าหมอน้อยเพียงอย่างเดียว

    สารออกฤทธิ์ในหญ้าดอกขาว

              ด้านสารออกฤทธิ์ พบว่าในแต่ละส่วนของหญ้าดอกขาวมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน โดยที่โดดเด่นคือ ใบ จะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (total antixidant capacity) ที่สูงที่สุด โดยมีสารประเภท ฟีนอลิก (total phenolics) และสารกลุ่มคาเทชิน (catechin) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ไอโซฟลาโวน (isoflavone)

              นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่อาจเป็นคำตอบของสมุนไพรหญ้าดอกขาวในการช่วยเลิกบุหรี่คือ ในสารสกัดหยาบจากใบและดอกที่ได้จากการเคี่ยวมีสาระสำคัญคือ นิโคติน (nicotine) ในปริมาณต่ำ
              ดังนั้น กลุ่มคนที่สูบบุหรี่ที่ค่อย ๆ เลิกบุหรี่ได้โดยไม่มีอาการข้างเคียงนั้น อาจเป็นผลมาจากมีการทดแทนของสารนิโคตินในกระแสเลือดไม่ให้ขาดหายไปทันที แต่อย่างไรก็ตามการเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุด นอกจากการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันไปออกกำลังกาย ร่วมกับความตั้งใจเพื่อตนเองหรือบุคคลที่คุณรักจะช่วยเสริมทำให้เลิกบุหรี่ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

              สำหรับการศึกษาความปลอดภัยพบว่า หญ้าดอกขาวเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง หลายแห่งได้มีการพัฒนาหญ้าดอกขาวในรูปแบบชาชงให้สามารถใช้ประโยชน์กันได้ง่ายขึ้น
       
       การทดลองใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยในครั้งนี้ จึงสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.ยาเคี่ยว ที่ใช้หม้อดิน โดยใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยที่มีดอกลักษณะดอกตูม 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน และเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ก่อนดื่มเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ 
       
       2.ชา ชงกับน้ำร้อน ดื่มหลังอาหาร 3 มื้อ ซึ่งวิธีเหล่านี้จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ด้วยการใช้ยาสมุนไพร และสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศได้

      ปัจจุบัน ชาหญ้าดอกขาวถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ในส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพร สำหรับลดความอยากบุหรี่ ในรูปแบบชง (รพ.) กินครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร หลังอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง ในบางรายจะมีอาการ ปากแห้ง คอแห้ง และควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไตเนื่องจากยาหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง 




No comments:

Post a Comment