Saturday, September 8, 2012

Haemovit (เฮโมวิต)ยาบำรุงร่างกายเม็ดสีแดง



วันนี้ที่ร้านยา มีหญิงอายุประมาณ 25-26 ปี มาขอซื้อ ยาบำรุงเลือดที่ชื่อเฮโมวิตให้สามีและเล่าว่า ได้ไปโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้ พาสามีไปให้แพทย์ตรวจด้วยพบว่า สามีเป็นธาลัสซีเมีย (ไม่ได้บอกว่าเป็นธาลัสซีเมียประเภทไหน) สามีจะกินข้าวได้น้อย ไม่มีแรง ตอนเด็ก ๆ แม่เคยให้ทานเฮโมวิต วันนี้เลยให้ภรรยามาซื้อไปกิน ข้าพเจ้าก็ดูสูตรเฮโมวิต ประกอบด้วย
1.Ferrous Sulfate(=ธาตุเหล็ก)        135 mg,
2.Aneurine HCL (=Thiamine,B1)        2 mg
3.Pyridoxine HCL(=B6)                  0.5 mg, 
4.Cyanocobalamine (=B12)                5 mcg 

(โรคโลหิตจาง มีหลายชนิด บางชนิดต้องทานวิตามินธาตุเหล็กเสริม แต่บางชนิดห้ามทานธาตุเหล็ก เพราะยิ่งทำให้มีอาการมากขึ้น  โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่มีธาตุเหล็กเกิน จึงห้ามทานยาบำรุงเลือดที่เป็นธาตุเหล็ก) ดังนั้น ยาบำรุงเลือดที่ใช้ในคนเป็นโรคธาลัสซีเมียได้จริง ๆ  คือ Folic Acid (โฟลิค แอซิด) 5 mg ไม่ใช่ธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในเฮโมวิต
                  สรุปในคนไข้กรณีนี้มีอาการอ่อนเพลีย ทานข้าวได้น้อย น่าจะขาดสารอาหาร ข้าพเจ้าจึงจัดยากลุ่มวิตามินรวมที่ไม่มีธาตุเหล็กให้ไป แล้วก็แนะนำว่าอย่าไปซื้อยาบำรุงเลือดทานเอง
หมายเหตุ โรคธาลัสซีเมียมีหลายประเภท บางประเภทไม่รุนแรง บางประเภทก็รุนแรง 

ขอคัดลอกบทความจาก
 www.thaihealth.or.th

"ธาลัสซีเมีย" โรคซีดแอบแฝง..?
พบไทยเป็นพาหะแล้วถึง 20 ล้านคน

คนไทยที่เดินขวักไขว่ไปมา คุณเชื่อหรือไม่ว่าประมาณ 30 เปอร์ เซ็นต์มีภาวะแฝงเป็นพาหะ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อทางพันธุกรรมต่อไปถึงบุตรหลาน หากไม่รู้จักวิธีป้องกัน โรคร้ายนี้อาจสร้างความทุกข์ทรมานสู่ทายาทของคุณ รวมทั้งตัวคุณด้วย

 ธาลัสซีเมีย พบมากในประเทศไทยและพบได้ทั่วโลก ถือเป็นโรคซีดชนิดหนึ่งที่เป็นกันในครอบครัว หรือที่เรียกว่า โรคทางพันธุกรรม ที่มีการสร้างสารฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง เม็ดเลือดแดงจะมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ผู้ที่เป็นโรค นี้จะได้รับยีนที่ควบคุมการสร้าง ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ผิดปกติมาจากทั้งพ่อและแม่

 ยีนธาลัสซีเมียแบ่งได้ 2 แบบ ที่สำคัญ คือ เป็นพาหะ หมายถึงผู้ที่มียีนผิดปกติหรือพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียเพียงยีนเดียว หรือยีนที่คู่กันปกติ เรียกว่า เป็นเฮทเทอโรซัยโกตหรือเทรต (Heterozygote, Trait) มียีน ธาลัสซีเมียแฝงอยู่ จะมีสุขภาพดีปกติต้องตรวจเลือดวิธีพิเศษจึง จะบอกได้ว่าเป็นพาหะ เพราะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกตินี้ไปให้ลูกได้ พาหะอาจให้ยีนที่ปกติหรือยีนที่ผิดปกติไปให้ลูกก็ได้ และ เป็นโรค หมายถึงผู้ที่รับยีนผิดปกติหรือพันธุกรรมของโรค ธาลัสซีเมียพวกเดียวกันมาจากทั้งพ่อและแม่ ผู้ป่วยจึงมียีนที่คู่กันผิดปกติทั้งสองยีนและจะถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติยีนใดยีนหนึ่ง ต่อไปให้ลูกของแต่ละคนด้วย

 ในปัจจุบันโรคธาลัสซีเมียจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย รศ.ดร. นพ.วิปร วิประกษิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถิติผู้ป่วยว่า ประชากรชาวไทยมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านคน มีภาวะแฝงของโรคดังกล่าวและมี ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า1 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 600,000 คนทั่วประเทศไทย หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสมเต็มที่ตามระดับความรุนแรงของโรค จะมีอาการซีดเรื้อรัง เหลือง ตับ ม้ามโต การเจริญเติบโตไม่สม อายุมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก และมีอายุขัยสั้น

 ดังนั้นการพัฒนาการดูแลและรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญ ที่จะต้องกระทำควบคู่กันไปกับการควบคุมป้องกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplantation) แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายของการรักษา ทั้งในด้านจำนวนของผู้บริจาคไขกระดูกที่มีจำกัด ความเสี่ยงจากการรักษาที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัดและค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาด้วยการให้เลือดเพื่อชดเชยภาวะซีดและทดแทนการทำงานของไขกระดูกที่ผิดปกติ จึงยังมีความสำคัญและจำเป็น อย่างยิ่ง โดยประมาณการว่ามีผู้ ป่วยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ

 นอกจากทางโรงพยาบาลจะมีการจัดตั้งคลินิกธาลัสซีเมียขึ้น เพื่อให้บริการให้เลือดแก่ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 250 รายต่อปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แล้ว ล่าสุดยังได้ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ ในการจัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย” เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งพยาบาลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการอบรมไปปฏิบัติงานทั้งในด้านการให้เลือด การให้ยาขับเหล็กและ คำแนะนำทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียอย่างถูกต้อง ซึ่งได้มีการเปิดอบรมครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือเป็นการอบรมครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับผลตอบรับที่ดีและจะจัดอบรมอย่างต่อเนื่องต่อไป

 ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนอกจากจะได้รับการดูแลสุขภาพและมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการรับประทานยาที่ได้รับจากแพทย์เป็นประจำแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพผู้ป่วยไม่แพ้กัน อ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แนะนำว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องระวังหรือจำกัดอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ แต่สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงบางรายภาวะทุพโภชนา การอาจจะเป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะขาดสารอาหารหลายชนิด เช่น โฟเลทและสังกะสี จึงควรรับประทานเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีระดับวิตามินซีและอีในเลือดลดลง ดังนั้นการได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบ ถ้วนเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี มีการเติบโตและพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

 วิธีการป้องกันสำหรับโรคธาลัสซีเมีย ถ้าคู่สมรสที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ไม่ได้มีข้อห้ามมิให้แต่งงานกัน แต่ก่อนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะปัจจุบันการแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์อ่อน ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ด้วยการเจาะน้ำคร่ำหรือตัดชิ้นเนื้อส่วนเล็ก ๆ ของทารกมาวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ถ้าพบทารกเป็นโรคคู่สมรสต้องมารับคำปรึกษาทางพันธุกรรมต่อเนื่อง หากการดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมารดา คู่สมรสมีสิทธิตัดสินใจ ที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการ ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยัง น้อย ๆ ได้

 ถ้ามีความเข้าใจโรคธาลัสซีเมีย การเป็นพาหะไม่ใช่สิ่ง น่ากลัวหรืออันตรายอีกต่อไป หากเราขอคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและตระหนักถึงการวางแผนครอบครัวที่ดีก็จะทำให้ คู่สมรสที่เป็นพาหะสามารถป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมียใหม่ในประชากรโลกได้ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงถ้วนหน้าและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์                
ส่วนความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

Friday, August 31, 2012

Diclofenac มาในรูปยาจีน


กินยาจีนดีกว่าจริงหรือ?
มีคุณป้าอายุประมาณ 77 ปี จะมาใส่บาตรพระตอนเช้าที่หน้าร้านยาของข้าพเจ้าทุกวัน ก็เลยเจอกันทุกเช้าแกมีโรคประจำตัว คือ โรคความดัน (ใช้สิทธิ์ข้าราชการรักษาที่ศิริราช) และแกก็มีอาการปวดขา ปวดเอวปวดหลังประจำ ตามประสาคนสูงอายุ ซึ่งครั้งล่าสุดแพทย์ จ่ายยา norgesic มาให้ 60 เม็ด แกก็กินวันละ 3 มื้อ แกบอกว่ากินแป๊บเดียวหมด แกก็เลยมาซื้อยาที่ร้านข้าพเจ้ากินต่อ แกบอกว่าพอไม่ได้กินยาก็ปวดอีก แล้วแกก็เล่าว่า เพื่อนบ้านเห็นแกบ่นเรื่องกินยาแล้วไม่หายปวดซักที เพื่อนบ้านเลยไปซื้อยาจีนจากเยาวราชมาให้กินฟรี แล้วก็แนะนำว่ายาฝรั่งอย่าไปกินเลย มันอันตราย กินยาจีนดีกว่าปลอดภัยกว่า คุณป้าก็กินยาจีนครั้งแรก1 เม็ด หายปวดขา ครั้งที่สองกินสองเม็ด หายปวดเอวและปวดหลัง เดินคล่องไม่ต้องใช้ไม้เท้า ก็เลยกินไปเรื่อย ๆทั้งหมดเกือบสิบกล่อง กล่องละ 24 เม็ดภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน แกเจอหน้าข้าพเจ้าทีไร ก็จะพูดแต่ว่ากินยาจีนดีจังเลยหายปวด ข้าพเจ้าก็ได้ยินแกพูดมาหลายครั้งแล้ว จนวันนี้ คือวันที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ แกก็เอายาจีนมาให้ดู บอกว่า จะเอาไปแจกเพื่อน ๆ ของแกกินด้วย เพราะเขาซื้อมาให้อีก5 กล่อง คือ ได้ฟรีมาอีกนั่นเอง
(ข้าพเจ้าก็ขอเอามาถ่ายรูปไว้ ตามภาพข้างบน)
           เมื่อข้าพเจ้าเห็นชื่อยา ก็ตกใจ เพราะทั้งกล่องเป็นตัวหนังสือจีน แต่มีเขียนชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษว่า Diclofenac sodium enteric coated tablet  และนึกเดาได้เลยว่า คุณป้าคนนี้ คงกินทีละหลายเม็ด เพราะเข้าใจว่าเป็นยาแผนโบราณที่ให้กินทีละ สี่ห้าเม็ดแน่นอน(แกบอกว่า แกกินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น)
           เรื่องยาจีนของคุณป้าที่ข้าพเจ้าเจอคราวนี้ ดูแล้วค่อนข้างอันตรายไม่น้อยกว่ายาลูกกลอนสมัยก่อนที่ผสมสเตียรอยด์เพราะคราวนี้ มาในรูปยาเม็ดทันสมัยแล้วแนะนำต่อ ๆ กันว่าเป็นยาจีน (ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคือ ยาแผนโบราณซึ่งไม่มีผลข้างเคียงจากยาเหมือนยาแผนปัจจุบัน จึงกินคราวละมาก ๆ ได้)แต่ที่แท้ก็คือยาแก้ปวดกลุ่มNSAIDSนั่นเอง(ซึ่งกัดกระเพาะ ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะ เป็นแผลในกระเพาะ ถ่ายอุจจาระดำ)
           ดังนั้น ก่อนทานยาทุกครั้ง ควรอ่านฉลากให้ดีก่อน หรือสอบถามผู้รู้ เช่นเภสัชกรในร้านยาก็ได้
เขายินดีแนะนำทุกท่านค่ะ

Monday, June 4, 2012

ซีม่าโลชั่นและซีม่าครีม

ซีม่าโลชั่นและซีม่าครีม

ซีม่าโลชั่น ใน 1 ขวด มี 15 ml ประกอบด้วยตัวยา คือ
1.Salicylic acid (ความเข้มข้น 11.8%)มีคุณสมบัติ ลอกผิวเซลล์ชั้นนอกสุด
2. Resorcinol (ความเข้มข้น 3.8%) คุณสมบัติ ผลัดผิวเซลล์
3. Phenylic acid  (0.285%) คุณสมบัติเป็น disinfectant, antiseptic
สรรพคุณ รักษากลาก เกลื้อน หิด

ซีม่าครีม  ประกอบด้วยตัวยา Clotrimazole (ความเข้มข้น 1%) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา
สรรพคุณ รักษากลาก เกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า
             
                   ชื่อยาสองตัวนี้คล้ายกัน ทำให้มีการใช้ยาผิด ส่วนใหญ่จะจำได้แต่ชื่อซีม่าโลชั่น ซึ่งเหมาะจะใช้กับผิวหนังที่หนา,ไม่มีแผลเปิด เพราะตัวยามีฤทธิ์เป็นกรด (Salicylic Acid) จะทำให้เกิดอาการแสบที่ผิวหนังถ้าบริเวณนั้นเป็นแผล และไม่แนะนำให้ใช้ซีมาโลชั่นกับหญิงตั้งครรภ์ แม้จะเป็นยาทาใช้ภายนอก แต่ตัวยามีความเข้มข้นสูง อาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมาก และไม่ควรใช้กับโรคน้ำกัดเท้า เพราะจะทำให้แสบมาก ไม่ได้ผลในการรักษา ควรใช้ซีม่าครีมแทน
เวลามีคนมาหาซื้อยาที่ร้าน บางทีบอกชื่่อซีมาโลชั่น จึงต้องแนะนำว่ามีสองแบบ คือแบบครีมและแบบโลชั่น ใช้ต่างกัน
                  เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าได้อ่านเจอในสังคมออนไลน์ มีการบอกต่อ ๆ กันว่า ใช้ซีม่าโลชั่นกับโรคสังคัง (Tinea Cruris) ได้ผลดี ทาแล้วยิ่งแสบยิ่งดี และมีคนทำตามด้วย ที่ถูกต้องแล้ว ต้องใช้ซีม่าครีมซึ่งมีตัวยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งทาแล้วไม่แสบและได้ผลดีกว่า (ขออธิบายคำว่าโรคสังคัง คือ โรคเชื้อราในร่มผ้าเป็นที่ขาหนีบมักพบในผู้ชาย มีอาการคันมาก)

Sunday, June 3, 2012

Calamine lotion และ Cadramine-V




              พูดถึงคาลาไมน์โลชั่น ในร้านยาข้าพเจ้ามีสองสูตร
                            สูตรแรกขวดสีชมพูเป็นสูตรยาคาลาไมน์โลชั่น ประกอบด้วย Calamine, Zinc oxide
สรรพคุณ - Calamine มีส่วนประกอบเป็นZinc carbonate ผสมกับ ferric oxideผงยาเป็นสีชมพู เป็น mildy antiseptic,astringent,protective                
          -Zinc oxide เป็น mild astringent ซึ่งนำมาใช้ทำ paste รักษาแผลกดทับได้ และยังใช้เป็นส่วนผสมในแป้งทาหน้าของผู้หญิง เช่น ผงหอมศรีจันทร์, เป็นส่วนผสมในแป้งโยคี,แป้งเด็กนิวบอร์น 
                สูตรที่สอง เป็นขวดสีเขียว ชื่อการค้าว่า Cadramine-V(สูตรเดียวกับCaladryl lotionที่เลิกผลิตไปแล้ว)มีส่วนประกอบเหมือนคาลาไมน์โลชั่น แต่เพิ่มตัวยา คือ
               - Diphenhydramine มีฤทธิ์แก้แพ้
               -  Camphor และ Mentholแก้คันแก้ปวดทำให้เย็น, จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กมาก เพราะเด็กผิวบางอาจระคายเคืองและแพ้ได้         
               ยาทาผิวหนังที่คนมักมาหาซื้อในร้านยากัน คือ คาลาไมน์โลชั่น ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัยใช้ง่าย ไม่มีผลข้างเคียง แต่ก็เหมาะสำหรับโรคผิวหนังบางชนิดเท่านั้น อาการโรคที่ใช้ได้ดีกับยาคาลาไมน์โลชั่น เช่น อีสุกอีใส ผื่นแพ้จากเหงื่อ ผื่นแพ้ลมพิษ
                 
                  บางทีคนมาซื้อยาจะบอกไม่ถูกว่าต้องการตัวไหน จะเรียกคาลาไมน์เหมือนกันหมด พอเอาเข้าจริง ๆ จะใช้ขวดสีเขียว คือ คาดรามาย-วี บอกว่าเคยใช้แล้วเย็นและได้ผลดี แต่เรียกไม่ถูก  




Friday, April 6, 2012

Motilium กับการเพิ่มน้ำนมในมารดาให้นมบุตร

          ยาmotilium มีชื่อสามัญว่า Domperidone นอกจากมีฤทธิ์ที่รู้กันอยู่แล้วว่า แก้คลื่นไส้ อาเจียน ก็ยังมีอีกคุณสมบัติหนึ่ง คือมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมน้ำนมในเต้านมให้ผลิตน้ำนม ดังนั้น คุณแม่ที่มีระดับฮอร์โมนนี้ต่ำเมื่อได้รับยานี้จะทำให้มีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นได้ แต่อาจไม่ได้ผลกับทุกคน ยานี้จะได้ผลต่อเมื่อได้แก้ไขปัญหาอื่นเรียบร้อยแล้ว เช่น ให้ลูกดูดนมบ่อยๆร่วมด้วย และคุณแม่ไม่เครียด กินอาหารและดื่มน้ำได้มากพอ โดยทั่วไป ยานี้ถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัย อาการข้างเคียงพบได้น้อย  โดยอาจพบอาการปวดศีรษะ มึนงง ง่วง ปวดท้องและปากแห้ง 
          เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนมาที่ร้านยาแล้วถามหายาMotilium เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่ ข้าพเจ้าก็แนะนำเพิ่มเติมว่า ยาตัวนี้ปกติใช้แก้คลื่นไส้ อาเจียน และก็อาจจะใช้ในทางเพิ่มน้ำนมมารดาได้บ้าง แต่อาจจะต้องทานประจำต่อเนื่องถึงจะได้ผล
          ตอนนี้ ข้าพเจ้านึกถึงคุณแม่ของข้าพเจ้าเองที่อายุ 78 ปี ได้ทานยาตัวนี้ประจำ เพราะท่านเป็นโรคกระเพาะชนิดที่มีสาเหตุจากยา Nsaids รักษาโดยการทานยาลดกรดและ ยาโมทิเลี่ยมติดต่อมาสามปีแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตว่า หน้าอกของท่านซึ่งหย่อนยานแบบคนสูงอายุกลับใหญ่เต่งตึงขึ้นมา ตอนแรกนึกว่าอ้วนขึ้น เพราะระยะหลังทานโจ๊กใส่ไข่ประจำเกือบทุกเช้า แต่ก็อาจจะเกิดจากยาโมทิเลี่ยมได้  แต่สังเกตคุณแม่ทานโมทิเลี่ยมปีแรกยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพิ่งจะมาเห็นตอนปีที่สามนี่เอง
          ส่วนยาที่ออกฤทธิ์หยุดน้ำนมมารดาได้ คือ Parlodel หรือ bromocriptine ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรค Parkinsonด้วย
          รายละเอียดเกี่ยวกับยา motilium อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่่ค่ะ
http://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=353665