Thursday, November 14, 2013

เครื่องสำอางกับ Oryor smart application

สองสามวันก่อน มีผู้หญิงนำเครื่องสำอางชุดทาแก้สิว มาเสนอวางขายที่ร้านยาของข้าพเจ้า โดยอ้างว่าเป็นของร.พ.ดังย่านจรัลฯ เขาบอกว่าเขาวางขายมานานแล้ว ข้าพเจ้าได้หยิบขวดเครื่องสำอางมาดูฉลาก มีตัวยา Tranexamic acid แทบทุกขวดเลยทั้งขวดที่อ้างว่าแก้สิวและขวดที่เป็นบำรุงผิว ข้าพเจ้าไม่รับไว้ เพราะถ้าคนซื้อไปใช้แล้วแพ้ขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบล่ะ



วันนี้อ่านข่าวเจอ มีการจับทลายเครื่องสำอางแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลยันฮี
ข่าวจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000142058
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์ 
   
       ในยุคที่คนหันมาแข่งกันสวย หรือแม้แต่หนุ่มๆ ก็เริ่มรู้จักหันมาดูแลเอาใจใส่สภาพผิวหน้าของตนเอง ไม่แปลกที่เมื่อความอยากสวยอยากหล่อมีมาก ย่อมมีเครื่องประทินโฉมต่างๆ ออกมาแข่งขันทำการตลาด มีหลายเกรดสินค้าและราคาให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ระดับแบรนด์หรูยันวางขายแบกะดิน
       ไม่ว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางจะอยู่ระดับเกรดใด ล้วนต้องมีการผลิตอย่างถูกกฎหมายคือ ต้องมีการจดแจ้งกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อที่จะผ่านการตรวจสอบว่า สินค้าที่ผลิตหรือนำเข้ามีความปลอดภัยก่อนมาถึงมือคนไทยอย่างแท้จริง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มักจะมีข่าวอย่างต่อเนื่องว่า มีการจับกุมสินค้าประเภทเครื่องสำอางเถื่อนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งประเภทที่ไม่มีการจดแจ้ง หรือมีส่วนผสมของสารผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายต่อหนังหน้า เช่น ไฮโดรควิโนน สารปรอท เป็นต้น รวมไปถึงการแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
   
       ซึ่งก่อนหน้านั้น อย.ได้มีการบุกจับทลายเครื่องสำอางที่แอบอ้างชื่อ “หมอยันฮี” มาแล้ว ทาง รพ.ยันฮีก็ออกมายืนยันว่า ไม่มีส่วนในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว นอกจากเครื่องสำอางแล้วยังมี “ยา” ประเภทช่วยขับถ่าย ยาระบาย ยาขับปัสสาวะต่างๆ ที่มีการนำมาผสม หรือเรียกกันว่า สูตรค็อกเทล เพื่อนำมาใช้ลดความอ้วน ซึ่งมีการขายโฆษณากันเกร่ออินเทอร์เน็ต
   
       ล่าสุด นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย.เปิดเผยว่า หน่วยควบคุมกำกับด้านยาประเทศสิงคโปร์ได้แจ้งว่า ศุลกากรสิงคโปร์ตรวจพบผู้โดยสารหญิงนำยาเม็ดไม่ระบุชื่อจำนวนหลายชนิด คาดว่าสั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในไทย เมื่อตรวจวิเคราะห์พบว่า เป็นยาชุดลดน้ำหนักมีหลายชนิดผสมกันหรือที่เรียกว่า “ยาสูตรค็อกเทล” มีทั้งยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ยาที่ช่วยระงับความอยากอาหาร แต่จากการตรวจสอบ รพ.เอกชนที่คาดว่าเป็นผู้จ่ายยาสูตรค็อกเทลดังกล่าวพบว่า โรงพยาบาลไม่ได้มีการจำหน่ายยาแต่อย่างใด
       คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผลิตภัณฑ์พวกนี้ยังคงขายอยู่ได้ เพราะคนไทยมีความสนใจในเรื่องของความสวยงามอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ประกอบกับการใช้ยี่ห้อเป็นชื่อของโรงพยาบาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อว่าเป็นของโรงพยาบาลอย่างแน่นอน ซ้ำยังมีราคาถูก น่าจะปลอดภัย โดยที่ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า โรงพยาบาลได้ผลิตเครื่องสำอาง ยา หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออกมาจริงหรือไม่ 
    
       เรียกได้ว่า เรายังขาดการพิจารณาข้อมูลอย่างหนัก เพราะบางรายไม่เคยหาข้อมูลประกอบแต่ตัดสินใจซื้อเลย หรือบางรายมีการหาข้อมูลแล้ว แต่ท่ามกลางข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่เรานิยมเล่น จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อได้อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญจึงต้องอาศัยการตกผลึกข้อมูลอย่างถี่ถ้วน
    
       นพ.ปฐม บอกอีกว่า ยาที่ขายโดยมีการอ้างชื่อโรงพยาบาลนั้นพิสูจน์ได้ยาก เพราะยาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อจากบริษัทยา จากนั้นนำมาแบ่งบรรจุใส่ซองให้ผู้ป่วยเวลาจ่ายยา ซึ่งซองมีชื่อของโรงพยาบาล ดังนั้น หากเป็นยาที่รับมาจากห้องจ่ายยาของโรงพยาบาลคือยาของโรงพยาบาลอย่างแท้จริง แต่เมื่อนำออกมาจากโรงพยาบาลแล้ว จะพิสูจน์อย่างไรว่ายานั้นเป็นของโรงพยาบาล แต่สิ่งสำคัญก็คือโรงพยาบาลไม่ได้มีการผลิตยาเองแน่นอน
    
       ในส่วนของเครื่องสำอางก็เช่นกัน นพ.ปฐม อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นครีม สบู่ หรือเครื่องสำอางใดๆ ก็ตามหากมีการใช้ชื่อยี่ห้อเป็นชื่อของโรงพยาบาล ขออย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ให้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นของโรงพยาบาลจริงหรือไม่
    
       “ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ โรงพยาบาล หากจะมีการผลิตเครื่องสำอางจะต้องขออนุญาตกับ อย.เพื่อดูว่ามีโรงงานการผลิตที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ชื่อสินค้าต้องไม่มีลักษณะที่โอ้อวดสรรพคุณเกินไป ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดต่างๆ ฉะนั้น หากต้องการทราบว่าเครื่องสำอางต่างๆ ที่มีชื่อโรงพยาบาลเป็นของโรงพยาบาลจริงหรือไม่ สามารถนำเลขจดแจ้งบนฉลากมาตรวจสอบกับทาง อย.ได้"
    
       นพ.ปฐม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ อย.ได้ผลิตแอปพลิเคชัน Oryor Smart Application ช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ 24 ชั่วโมง ว่าเครื่องสำอางถูกกฎหมาย หรือเป็นการแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลหรือไม่ แอ๊ฟนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อยาหรือเครื่องสำอางที่หลอกลวงและเป็นอันตราย

Tranexamic acid ในเครื่องสำอาง

สองสามวันก่อน มีผู้หญิงนำเครื่องสำอางชุดทาแก้สิว มาเสนอวางขายที่ร้านยาของข้าพเจ้า โดยอ้างว่าเป็นของร.พ.ดังย่านจรัลฯ เขาบอกว่าเขาวางขายมานานแล้ว ข้าพเจ้าได้หยิบขวดเครื่องสำอางมาดูฉลาก มีตัวยา Tranexamic acid แทบทุกขวดเลยทั้งขวดที่อ้างว่าแก้สิวและขวดที่เป็นบำรุงผิว ข้าพเจ้าไม่รับไว้ เพราะถ้าคนซื้อไปใช้แล้วแพ้ขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบล่ะ

ส่วนยา  Tranexamic acid มีบทความของมหิดล ทำวิจัยไว้จากลิ้งค์นี้
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/research_special_abstract.php?num=9&year=2543
การพัฒนาตำรับที่มี Tranexamic acid เป็น Whitening agent
บทคัดย่อ:
โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของ tranexamic acid ในการลดรอยคล้ำที่ผิวหนัง เริ่มต้นพัฒนาตำรับโลชั่นอีมัลชั่น 6 ตำรับ คัดเลือกโลชั่นพื้นที่เข้าเกณฑ์มาผสมกับตัวยาในความแรง 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ทดสอบชนิดของอีมัลชั่น, วัดความเป็นกรดด่าง, วัดความหนืด ที่ 30 องศาเซลเซียส และทดสอบความคงตัวทางกายภาพ คัดเลือกตำรับที่มีความคงตัวมาทดสอบความระคายเคืองและการแพ้ในอาสาสมัครหญิงสุขภาพดี อายุระหว่าง 20–25 ปี จำนวน 6 ราย ทดสอบฤทธิ์ในการลดรอยคล้ำบนแผ่นหลังอาสาสมัครชายสุขภาพดี อายุระหว่าง 20-25 ปี จำนวน 10 ราย โดยทาโลชั่นยาปริมาณ 2 ไมโครลิตร/ตารางเซนติเมตร เป็นเวลา 7 และ 3 วัน ทุกวัน เช้า–เย็นและ 30 นาที ก่อนฉายรังสีอุลตราไวโอเลตเอ (UV-A) ครั้งเดียวด้วยเครื่อง UVASUN 3000 unit นาน 26 นาที 40 วินาที เทียบกับผิวหนังเปล่า สังเกตรอยคล้ำทันที และหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง แปลผลทางสถิติโดยใช้ paired t-test ที่ระดับ อัลฟ่า = 0.05 จากผลการวิจัยพบว่ามีตำรับโลชั่นอีมัลชั่นชนิด o/w 3 ตำรับที่ผ่านการคัดเลือกคือ ตำรับที่ 2, 3 และ 6 ความเป็นกรดด่างของโลชั่นทั้ง 3 ตำรับ เท่ากับ 7.0 ความหนืดเฉลี่ยเท่ากับ 2,459, 1,014.4 และ 707.4 เซนติพอยส์ ตามลำดับ เมื่อทดสอบความคงตัวทางกายภาพพบว่าตำรับที่ 2 และ 3 แยกชั้น และตำรับที่ 6 คงตัว ผลการทดสอบฤทธิ์ลดรอยคล้ำของโลชั่นยาที่ทาแผ่นหลังไว้ล่วงหน้า 7, 3 วัน และ 30 นาที ก่อนฉายรังสี พบว่าจากการอ่านผลทันทีจะทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.07, 0.07 และ 0.08) ตามลำดับ และการอ่านผลหลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ช่องที่ทายาทั้งสามช่องทำให้สีของผิวหนังแตกต่างกับช่องที่ไม่ได้ทายาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.40, 0.28 และ 0.06) ตามลำดับ เช่นเดียวกัน จากการวิจัยครั้งนี้พบว่าโลชั่น tranexamic acid 3 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรมีผลลดรอยคล้ำจากแสง UV-A ที่ฉายจากเครื่อง ในผิวหนังของอาสาสมัครชายอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

และเมื่อเดือนก่อนมีคนมาถามหาซื้อยา Transamin (=Tranexamic acid ) ชนิดแคปซูล จะทานรักษาฝ้า ซึ่งอ.ย.เคยแจ้งเตือนอันตรายจากการใช้ยาตัวนี้ตามลิ้งค์นี้http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=378

คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนอันตรายจากการใช้ยา “tranexamic acid”

เนื่องจากมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของยา “tranexamic acid” ว่าสามารถสร้างเม็ดสีเมลานินและลดสีผิวให้อ่อนลง ลดฝ้า กระ จุดด่างดำให้จางลง ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้อนุญาตในการขึ้นทะเบียนยาในข้อบ่งใช้ดังกล่าว สำหรับข้อบ่งใช้ของยา“tranexamic acid” คือ ใช้ในกรณีที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติในโรคบางชนิดเช่น leukemia, aplastic anemia เป็นต้น และภาวะเลือดออกมากระหว่างหรือหลังการผ่าตัด รวมทั้งภาวะเลือดออกมากผิดปกติเฉพาะที่

สำหรับอาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมอง ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตัน คนสูงอายุและควรลดขนาดยาลงในผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ รวมทั้งห้ามใช้ยาในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยา“tranexamic acid”ต้องได้รับการตรวจวัดการมองเห็นสม่ำเสมอ

ยา“tranexamic acid” จัดเป็นยาอันตราย ต้องมีการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น 

Friday, November 8, 2013

ของแสลงในโรครูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)เป็นความผิดปกติเรื้อรัง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันรุกรานเนื้อเยื่อในร่างกายหลายแห่งโดยเฉพาะส่วนข้อ ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ข้อเสื่อม  อาการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี ส่วนระยะที่อาการกำเริบ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ     กล้ามเนื้อและข้อเกร็ง(พบมากในช่วงเช้า) ข้อเปลี่ยนเป็นสีแดง บวม ปวด นิ่ม โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้างของร่างกายสมดุลกัน มักเกิดกับข้อเล็ก  หากทิ้งไว้เรื้อรัง จะลุกลามมีผลทำลายอวัยวะอื่นๆ เช่นปอด หัวใจ เม็ดเลือด ทำให้ต่อมน้ำตาฝ่อ ตาแห้งฝืด ฯลฯ 

จะรับประทานอาหารอะไรได้บ้างที่ไม่มีผลทำให้อาการกำเริบ?
อาหารที่ไม่มีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดข้อ ที่มีบทความต่างประเทศแนะนำไว้ ได้แก่
  • ข้าวกล้อง
  • ผลไม้ที่ผ่านความร้อน หรือทำแห้ง ได้แก่ เชอรี่ แครนเบอรี่ ลูกแพร์ ลูกพรุน (ยกเว้น ผลไม้ตระกูลส้ม กล้วยลูกพีช หรือมะเขือเทศ)
  • ผักสีเขียว เหลือง และส้ม ที่ผ่านความร้อน ได้แก่ หัวอาร์ติโช้ค หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ ผักกาดแก้ว ผักโขม ถั่วฝักยาว มันเทศ มันสำปะหลัง และเผือก เป็นต้น
  • น้ำ ได้แก่ น้ำธรรมดา หรือ โซดา
  • เครื่องปรุงรส ได้แก่ เกลือปริมาณปานกลาง น้ำเชื่อมเมเปิ้ล และสารสกัดวานิลา

ควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง?
                อาหารที่มีผลกระตุ้นให้อาการกำเริบ คือ ผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ทั้งจากนมวัวและนมแพะข้าวโพด เนื้อสัตว์ทุกชนิด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวราย ไข่ ผลไม้ตระกูลส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่ว กาแฟ

อาหารอื่นที่อาจจะรับประทานได้ หรือควรจะหลีกเลี่ยงเพิ่มเติม มีอะไรบ้าง?
อาหารบางชนิดที่อาจจะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ในบางคน แต่ไม่กระตุ้นอาการในคนกลุ่มใหญ่ เช่น เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ กล้วย ช็อกโกแล็ต มอลต์ ไนเตรต หอมใหญ่ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง น้ำตาลอ้อย และเครื่องเทศบางชนิด