Friday, February 28, 2014

เผย 10 จุดเจ็บปวดตามร่างกาย มีที่มา

จากเดลินิวส์ออนไลน์

อาการเจ็บปวดเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มักสร้างความกังวลเพราะนอกจากจะไม่รู้ที่มาแล้ว เรายังไม่อาจเห็นสภาพภายในได้ เรื่องนี้ นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ มีข้อมูลมาไขข้อข้องใจโดยเฉพาะอาการปวด 10 จุด ต่อไปนี้

'เจ็บต้นคอร้าวแขน' เจ็บนี้ต้องระวังเส้นประสาทต้นคออาจถูกกดหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ยกของหนักที่ผ่านมาได้ 'เจ็บแขนร้าวปลายมือ' ดูเรื่องเส้นประสาทให้ดีมีสิทธิ์เกิดจากพังผืดไปรัดเส้นประสาทหรือเกิดมาจากศูนย์รวมประสาทที่ต้นคอก็ยังได้

'ปวดศีรษะร้าวต้นคอ' อาจเป็นเพียงกล้ามเนื้อที่เกร็งตึงเวลามีความเครียดธรรมดา แต่ถ้ามีตาพร่าบวกคลื่นไส้อาเจียนด้วยก็ต้องจับตาอาการด้านสมอง 'ปวดหลังร้าวลงขา' น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาทเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังส่วนบั้นเอวเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ การดูว่าปวดหลังถึงขั้นไหนให้ดูอาการร้าวลงขา

'เจ็บอกวิ่งไปแขนซ้าย' ร้ายเสียยิ่งกว่าอกหักเพราะมักเกี่ยวถึงโรคหัวใจขาดเลือด ให้สังเกตอาการปวดว่าเหมือนถูกบีบหรือถูกงูเหลือมตัวใหญ่รัดด้วยหรือไม่ 'ไอแล้วปวดร้าวลงก้นกบ' บางคนเวลาไอหรือเบ่งท้องแรงๆ แล้วมีอาการเจ็บร้าวไปหลังหรือก้นกบเบื้องล่างทุกครั้ง ต้องเฝ้าระวังโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

'เจ็บท้องน้อยร้าวลงหน้าขา' ในสตรีต้องระวังเรื่องอุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่วนในหนุ่มๆ ให้ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีไข้ร่วมด้วยให้ช่วยระวังการติดเชื้อเป็นหลัก 'เจ็บท้องส่วนอื่นๆ แล้วร้าวทะลุหลัง' อาการเจ็บหน้าไปหลังเช่นนี้ถ้าเป็นที่ตับ คือ ด้านบนขวาให้นึกถึงถุงน้ำดีที่อาจไม่ดีสมชื่อ เพราะนี่เป็นสัญญาณนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนถ้าเจ็บตรงกลางร่วมกับไข้สูงให้นึกถึงตับอ่อนอักเสบ (Acute pancreatitis) แบบเฉียบพลัน

'เจ็บบั้นเอวแถวสีข้างร้าวลงขา' ยิ่งถ้าเจ็บบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่งแล้วร้าวด้วย ให้นึกถึงก้อนนิ่วในกรวยไตหรือท่อไต ในบางรายอาจมีท่อปัสสาวะอักเสบร่วมกับมีไข้ รู้สึกหนาวและปัสสาวะปนเลือดอีก หากเป็นเช่นนี้แนะให้ช่วยรีบไปตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์

และสุดท้าย 'เจ็บตามผื่นแล้วร้าวลงเส้นประสาท' การที่มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสแล้วมีอาการแสบร้อนหรือเคยมีประวัติโรคเริม งูสวัด ให้ระวังอาการปวดร้าวไปตามปลายประสาท แม้ไม่มีผื่นแล้วก็อาจทิ้งอาการแสบร้อนไว้ได้ บางรายเจ็บแสบอยู่ตามแนวเส้นประสาทเป็นครั้งคราว

คุณหมอกฤษดา ย้ำว่า สัญญาณเจ็บร้าวทั้งสิบที่ว่ามาเป็นวิธีดูคร่าวๆ เท่านั้น แต่ก็ช่วยทำให้ได้ร่องรอยของโรคที่ซ่อนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ พบแพทย์แล้วตรวจหาความผิดปกติให้ทราบชัดเจนชัวร์กว่า.

Wednesday, February 26, 2014

ฟ้าทลายโจร


กรมการแพทย์ไทยฯ เผย ฮู หนุนกิน ฟ้าทลายโจร รักษาหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ แนะกินครั้งละ 1.5 -3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่ห้ามใช้กับผู้มีความดันต่ำ หากทำยาต้ม ใช้ใบและกิ่งสดต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงอากาศเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาว หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันอาจเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย น้ำมูกไหล มีเสมหะ ไอ เจ็บคอ แสบคอ จึงแนะนำทางเลือกในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และอาหารรสร้อน ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟ้าทลายโจร

นพ.ธวัชชัยกล่าวอีกว่า มีการใช้ยาฟ้าทลายโจรช่วยบรรเทาอาการหวัดและเสริมภูมิต้านทานดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมานานหลายร้อยปี จนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรรักษาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบที่ได้ผลดี และขายดีที่สุดในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะสแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ในคนที่เป็นหวัดบ่อย ๆ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ได้ผลดีต่อโรคหวัดมาก โดยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส เพิ่มภูมิต้านทาน ลดไข้ และลดการอักเสบ ช่วยให้จมูกโล่ง และลดอาการเจ็บคอ ระคายคอ

การกินฟ้าทลายโจรตามระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2549 กำหนดขนาดใช้ของฟ้าทะลายโจร คือ ถ้ามีอาการหวัดเจ็บคอ กินครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ความดันต่ำ นอกจากการบริโภคฟ้าทลายโจร ตามที่แนะนำแล้ว ยังมีวิธีการใช้ฟ้าทลายโจรในครัวเรือนแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านในรูปแบบของยาต้ม  โดยใช้ใบและกิ่งสดต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง


นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำหน่ายตามร้านยาไทย และร้านสะดวกซื้อทั่วไป อย่างไรก็ตาม จะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คือ การดื่มน้ำเย็น งดกินอาหารที่มีรสหวานมัน  เพราะทำให้เสมหะมากและทำให้ไอมากขึ้น หากดูแลรักษาตนเองตามวิธีข้างต้น อาการจะดีขึ้นในเวลาเพียง 1-2 วัน หากใช้ฟ้าทลายโจรติดต่อกัน 2-3 วัน แล้วไม่หาย หรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์ทันที












Tuesday, February 18, 2014

กฎใหม่ อย.คุมเข้ม 'ร้านยา' จับปรับเภสัชฯไม่อยู่

อย.ยกเครื่อง “ร้านขายยา” ออกกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ 25 มิ.ย. 2557 คุมเข้มจ่ายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษหากเภสัชกรไม่อยู่ร้าน หากตรวจพบเจอโทษหนักทางจริยธรรมวิชาชีพ ปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท...

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมให้ร้านขายยามีการพัฒนาภายใต้วิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice: GPP) และยกระดับให้พร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน มีบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตอบสนองสิทธิของผู้ใช้ยามากขึ้น และทำให้ผู้ใช้ยามีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น
ทั้งนี้ ได้ปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ และอุปกรณ์ เครื่องมือในการควบคุมเก็บรักษาคุณภาพยา อาทิ การจัดบริเวณให้คำปรึกษาด้านยา การจัดพื้นที่ตามประเภทยาอย่างชัดเจน แยกเก็บยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาสำหรับสัตว์ เป็นสัดส่วนจากยาอื่นๆ กำหนดให้มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปถ่ายเภสัชกร ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (เจ้าของร้าน) และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกรผู้ส่งมอบยา) ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรม (GPP) กำหนดเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาต และการตรวจประเมิน วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมเพื่อประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตของผู้รับอนุญาต กำหนดให้ผู้รับอนุญาตร้านขายยาที่เปิดก่อนกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ต้องปรับปรุง สถานที่ อุปกรณ์ และการปฏิบัติตาม GPP อย่างเป็นขั้นตอน ภายในระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 8 ปี นับจากกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
อย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง และได้กำกับดูแลการจำหน่ายยาประเภทยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ และดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกรในร้านขายยาอย่างใกล้ชิด ถ้าตรวจพบว่า ร้านขายยาใดมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย จะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนทุกราย หากมีการจำหน่ายยาประเภทอันตรายและยาควบคุมพิเศษในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามเวลาทำการ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพต่อไป
นอกจากนี้ อย.จะประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้เข้มงวดในการตรวจสอบร้านขายยา และขอให้ร้านขายยาทุกร้านทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้บริโภคพบร้านขายยาที่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย/ จำหน่ายยาประเภทอันตรายและยาควบคุมพิเศษในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ การไม่มีเภสัชกรประจำร้านสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.โทร.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด.



 
 
ที่มา : www.thairath.co.th 

Saturday, February 1, 2014

เครื่องสำอางสมุนไพร

เครื่องสำอางสมุนไพร เลือกอย่างไรปลอดเชื้อโรค

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสมชนิดอื่นๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทย 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาวเครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุด ดินสอพอง และจันทน์เทศแดง

ผลพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000 ถึง 1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้งๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม

จากนั้นสุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่ สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป เช่น ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัว 12 ตัวอย่าง พบว่า จำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5) ทั้งพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า การที่เครื่องสำอางสมุนไพรไทยไม่ได้มาตรฐาน สาเหตุหลักเนื่องจากวัตถุดิบเป็นสมุนไพรที่มีการปนเปื้อนของ เชื้อจุลินทรีย์มาก หากจะนำมาใช้ในผลิต ภัณฑ์เครื่องสำอางจะต้องมีคุณภาพสูง และปราศจากเชื้อจุลินทรีย์คือเป็น Sterilized grade ซึ่งในตลาดเมืองไทยปัจจุบันผู้ประกอบการละเลยในจุดนี้

อย่าง ไรก็ตาม สทน.ได้นำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมาประยุกต์เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อโรคใน ผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ เพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์รวมถึงการกำจัดเชื้อก่อโรค ผลปรากฏว่า การใช้รังสีแกมมาเพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในวัตถุดิบของเครื่องสำอาง สมุนไพรและเครื่องสำอางสมุนไพรประเภทแป้งพอกหน้าขัดตัว ครีมโคลนหมักตัวสามารถดำเนินการได้ และมีประสิทธิภาพมาก โดยปริมาณรังสีที่ใช้จะขึ้นกับปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยพบว่า ปริมาณรังสีแกมมาที่ 6.5-10 กิโลเกรย์สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ลงได้อย่างน้อยหมื่นถึงแสนเท่า ซึ่งอยู่ในขั้นปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคที่อาจจะทำอันตรายต่อผิวและร่างกายได้ ดร.สมพรกล่าวในตอนท้าย

หากผู้ประกอบการเกี่ยวกับเครื่อง สำอาง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร สนใจนำวัตถุดิบหรือสินค้า นำมาฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าเชื้อโรค-ลดปริมาณจุลินทรีย์ ติดต่อได้ที่ศูนย์ฉายรังสี สทน. โทร. 0-2401-9889 ต่อ 6101 หรือ www.tint.or.th
 


http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1EUTBOalEzTWc9PQ%3D%3D&subcatid&fb_action_ids=10202781605688878&fb_action_types=og.likes&fb_source=aggregation&fb_aggregation_id=288381481237582